ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.)
ในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุคใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาล
ได้ใช้มาตรการเร่งด่วนหลายมาตรการในการเยียวยาความตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม โครงการช่วยเหลือทางด้านเทคนิครูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การจัดตั้งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจขึ้นในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยมีการสนับสนุนเงินทุนในการจัดหาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลังในการบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ถือว่าเป็นการจัดตั้งสถาบันวิจัยฯ อย่างไม่เป็นทางการอยู่ภายใต้ สศค. จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง หรือ มูลนิธิ สวค. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในรูปแบบของมูลนิธิที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการคลัง ในระยะแรกมูลนิธิ สวค. ได้ใช้สถานที่ชั้น 3 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังเป็นที่ตั้งในการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานศึกษาวิเคราะห์วิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและดำเนินงานร่วมกันกับองค์กรต่างประเทศในการศึกษาวิจัย ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
โครงสร้างการบริหารงานของมูลนิธิ สวค. เป็นรูปแบบคณะกรรมการบริหารมูลนิธิที่มีโครงสร้างประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานมูลนิธิ ผู้อำนวยการ สศค. เป็นรองประธานมูลนิธิ คณะกรรมการผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจการคลัง และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ
ด้วยความอนุเคราะห์จากกระทรวงการคลัง ทำให้การดำเนินงานของมูลนิธิ สวค. เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับในบรรดาสถาบันทางวิชาการทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกเหนือจากการศึกษาวิจัยให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง มูลนิธิ สวค. ได้ดำเนินงานศึกษาวิจัยให้กับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ (เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ) รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน โดยนับจากปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา มูลนิธิ สวค. ได้รับดำเนินโครงการวิจัยให้กับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลงานศึกษาวิจัยของมูลนิธิ สวค. ในปัจจุบันมีมากกว่า 400 โครงการ และได้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ไปสู่งานด้านสังคม และการจัดฝึกอบรม โดยมีภารกิจตามการจดทะเบียนมูลนิธิในปัจจุบัน ดังนี้
- การศึกษาวิเคราะห์ วิจัยด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลัง และสังคม ตลอดจนการดำเนินการติดตาม รวบรวม รายงานข้อมูลและสถานะทางเศรษฐกิจการเงิน การคลัง และสังคม
- การส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและการฝึกอบรมกับหน่วยงาน/องค์กรภายนอกทั้ง
ในประเทศและต่างประเทศ - การดำเนินการร่วมกับองค์การการกุศลอื่นๆเพื่อสาธารณประโยชน์
- ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
- เป็นที่ปรึกษางานด้านการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดฝึกอบรม และจัดสัมมนาในสาขาต่างๆ
การเติบโตของมูลนิธิ สวค. ควบคู่มากับผลงานที่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งถูกนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายสาธารณะของประเทศอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานในด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาของมูลนิธิ สวค. กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ได้เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนานักวิจัยและองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างต่อเนื่องในการร่วมสร้างสรรค์งานวิจัยนโยบายสาธารณะให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในประเด็นต่างๆ เพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่นที่มีต่อศักยภาพการวิจัยขององค์กร มูลนิธิ สวค. ได้จดทะเบียนที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และได้รับการต่อทะเบียนที่ปรึกษาตามผลงานที่ได้มีการขยายขอบเขตงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 19 ปี โดยที่ระดับที่ปรึกษาอยู่ในระดับ 1
เนื่องจากในระยะแรกของการจัดตั้ง การศึกษาวิจัยของมูลนิธิ สวค. มุ่งไปที่ผลงานที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายที่สอดรับกับความต้องการของกระทรวงการคลังเป็นสำคัญ ดังนั้น ในช่วงแรก มูลนิธิสวค. จึงมุ่งเน้นไปที่งานวิจัยนโยบาย 3 ด้าน ประกอบด้วย เศรษฐกิจมหภาคและการเงิน เศรษฐกิจการคลัง และเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลง ขยายขอบเขต รวมทั้งความเชี่ยวชาญต่างๆ ที่ได้สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบัน มูลนิธิ สวค. ได้ขยายขอบเขตการทำงานและปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดรับกับขอบเขตการศึกษาวิจัยที่ขยายเพิ่มขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนงานดังนี้
1) ศูนย์วิจัย ประกอบด้วย
- ศูนย์เศรษฐกิจการคลังและสังคม
- ศูนย์เศรษฐกิจและการสาธารณสุข
- ศูนย์เศรษฐกิจและการวิเคราะห์ข้อมูล
- ศูนย์เศรษฐกิจการเงิน
- ศูนย์ธุรกิจระหว่างประเทศ
- ศูนย์เศรษฐกิจการค้าและการติดตามประเมินผล
โดยดำเนินงานศึกษาวิจัยเชิงนโยบายในหลายด้าน เช่น
- ด้านการคลัง
- ด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ การค้า และการลงทุน
- ด้านการวางแผนการลงทุน และการพัฒนาที่ดิน
- ด้านการพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจ การเงิน การประกันภัย และการจ้างงาน
- ด้านการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- ด้านการพัฒนาฐานข้อมูลและการวิเคราะห์อุตสาหกรรม
- ด้านการประเมินความเสี่ยง และการประเมินผลโครงการ
- ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
2) ศูนย์พัฒนาการศึกษาและสื่อสาร ดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในหลักสูตรต่างๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการรูปแบบต่างๆ ของผู้ที่สนใจ โดยประกอบด้วย
- หลักสูตรสาธารณะ
- หลักสูตร In-House / Customized Training
- หลักสูตร Co-Program
- หลักสูตร Online / Seminar
3) ศูนย์บริหารกลาง ดำเนินงาน ดังนี้
- งานสนับสนุนการวิจัย และฝึกอบรม
- งานทรัพยากรบุคคล และทรัพย์สิน
- งานธุรการ และการจัดซื้อจัดจ้าง
- การเงิน และบัญชี
- งานด้านสัญญาจ้าง และเอกสารประกอบการยื่นข้อเสนอโครงการ
- งานด้าน IT และการจัดเก็บข้อมูลส่วนกลาง
- งานบริการ งานรักษาความปลอดภัย อาคาร สถานที่ และงานซ่อมบำรุง