

สืบเนื่องจากอดีต-ปัจจุบันการดำเนินงานด้านการค้าต่างประเทศของฝ่ายการค้าต่างประเทศ ธนาคารออมสิน ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ยังคงเป็นการ Outsource การดำเนินงานบางขั้นตอนให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ทำให้ต้องมีการแบ่งปันรายได้ (Income Sharing) ระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตได้ปรับเปลี่ยนไปจากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ซึ่งต้องเตรียมพร้อมรองรับระบบการเงิน และการค้าต่างประเทศที่จะต้องพัฒนา/เปลี่ยนแปลง/มีปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 7.2 ล้านล้านบาท/ปี โดยเป็นการดำเนินการผ่าน Letter of Credit ซึ่งเป็นธุรกรรมหลักของธุรกิจการค้าต่างประเทศถึงประมาณ 25% ดังนั้นการจัดตั้งการดำเนินงานด้านการค้าต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบของธนาคารออมสิน เพื่อรองรับการขยายปริมาณการค้าระหว่างประเทศ จะทำให้ธนาคารออมสินสามารถสร้างฐานรายได้จากค่าธรรมเนียม (Fee Base Income) และเพิ่มปริมาณธุรกิจสินเชื่อ รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ให้แก่ธนาคาร รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของธนาคาร จากการที่ได้มีการติดต่อกับธนาคารต่างประเทศมากขึ้น และนำมาซึ่งธุรกิจต่างตอบแทน และเป็นโอกาสที่ดีของธนาคารที่จะได้เริ่มให้บุคลากรฝึกฝน เรียนรู้ หาประสบการณ์ จากการจัดตั้ง (Set Up) เพื่อดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบในขณะที่ปริมาณธุรกิจยังมีน้อย เนื่องจากสามารถควบคุมความเสี่ยงในการดำเนินงานได้
ในการจัดตั้ง (Set Up) การดำเนินงานด้านการค้าต่างประเทศของธนาคารออมสิน ให้สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบทั้งในด้านสินค้าเข้า (Import) และสินค้าออก (Export) ทั้งในธุรกรรมภายใต้เลตเตอร์ออฟเครดิต (Under Letter of Credit) และธุรกรรมที่ไม่มีเลตเตอร์ออฟเครดิต (Non Letter of Credit) ภายในระยะเวลา 6 เดือน มูลนิธิ สวค. ในฐานะที่ปรึกษาจึงได้ดำเนินการทบทวนผังงาน (Work Flow) และขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Procedure) ซึ่งแสดงวิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติงานหลักในแต่ละขั้นตอนที่สำคัญว่ามีครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ เพื่อปรับปรุงให้ได้มาตรฐานสากล และดำเนินการถ่ายทอดความรู้, ประสบการณ์ และเป็นพี่เลี้ยง (Training & Coaching) ในการดำเนินงานที่สำคัญทุกด้าน เช่น การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไปยังธนาคารคู่ค้า, การเป็น Advising Bank, การตรวจเอกสารทางการค้า เป็นต้น รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อช่วยจัดตั้งหน่วยงานและระบบงานที่จำเป็นและสำคัญต่อการดำเนินงาน ได้แก่ หน่วยงานธนาคารตัวแทน (Correspondent Banking) และระบบการโอนเงิน SWIFT หรือระบบอื่นๆ ด้านการค้าต่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการค้าต่างประเทศมีประสิทธิภาพและดำเนินการได้เต็มรูปแบบ
