Home -> Macroeconomic
Recently Research Project
โครงการการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน ปี 2556

Infographic of Thai Financial Capability

โครงการการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนปี 2556 เป็นโครงการที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) ดำเนินการสำรวจความรู้ทางการเงินของประชาชนไทยทั่วประเทศ (national survey) จำแนกตาม 8 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1) กลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้กำลังศึกษา
2) กลุ่มภาคเอกชนมีนายจ้าง
3) กลุ่มภาคเอกชนอาชีพอิสระที่มีรายได้สูง
4) กลุ่มภาคเอกชนอาชีพอิสระอื่นๆ (รายได้ต่ำ)
5) กลุ่มเกษตรกร
6) กลุ่มภาครัฐ
7) กลุ่มครัวเรือน และ
8) กลุ่มสื่อมวลชน

จำนวนรวม 6,000 ตัวอย่าง โดยเป็นการสำรวจทั่วประเทศ กำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์คลัสเตอร์ (cluster analysis) การเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างเป็นวิธีการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายโดยตรง เป็นการเก็บข้อมูลที่ผู้วิจัยใช้วิธีการการสนทนากับผู้ตอบในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (face-to-face interview) ช่วงระยะเวลาในการลงพื้นที่สำรวจ คือ ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แบบสอบถามเพื่อสำรวจความรู้ทางการเงินของประชาชนในงานศึกษานี้มีคำถามที่ครอบคลุมถึงความรู้ทางการเงินทั้งหมด 5 มิติ ได้แก่

1) การจัดการข้อมูลด้านการเงิน (keeping track)
2) การบริหารจัดการด้านการเงินระยะสั้น (making ends meet)
3) การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (choosing financial products)
4) การวางแผนทางการเงิน (planning ahead) และ
5) การแก้ปัญหาและการเข้าถึงข้อมูลด้านการเงิน (getting help)

สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่จะมีคำถามเพิ่มเติมในส่วนของความรู้เกี่ยวกับการลงทุนทางการเงิน (investment) ด้วย โดยงานศึกษานี้ได้แบ่งระดับความรู้ทางการเงินออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่

1) ระดับความรู้ทางการเงินต่ำที่สุด (L1)
2) ระดับความรู้ทางการเงินต่ำ (L2)
3) ระดับความรู้ทางการเงินปานกลางค่อนต่ำ (M1)
4) ระดับความรู้ทางการเงินปานกลางค่อนสูง (M2)
5) ระดับความรู้ทางการเงินสูง และ
6) ระดับความรู้ทางการเงินสูงที่สุด (H2)

สรุปผลการสำรวจความรู้ทางการเงินของประชาชน พบว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่มีระดับความรู้ทางการเงินในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ (M1) และระดับต่ำ (L2) รวมกันเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 69.88 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความรู้ทางการเงินภาคประชาชนยังคงอยู่ในระดับค่อนไปทางต่ำอยู่ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ผลสรุปจากการวิเคราะห์ช่องห่างความรู้ทางการเงิน (gap analysis) สำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมายพบว่า ในกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้กำลังศึกษา ควรมุ่งเน้นหลักสูตรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินและการจัดการข้อมูลด้านการเงิน การบริหารการเงินระยะสั้น และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่ประกอบอาชีพต่างๆ ก็พบว่า ควรเพิ่มเติมความรู้ทางการเงินในด้านการวางแผนทางการเงิน และการลงทุน เพราะคนไทยส่วนใหญ่วางแผนทางการเงินยังไม่เพียงพอ และยังขาดความรัดกุมรอบคอบ ในขณะที่การวางแผนเพื่อการเกษียณก็มักเริ่มต้นช้าเกินไป ส่วนความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนก็ยังไม่ดีเท่าไรนัก นอกจากนี้ โครงการศึกษานี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างระบบฐานข้อมูลและพัฒนาเว็บไซต์ (website) ใหม่ในชื่อ www.financialeducation.or.th สำหรับเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารกลางที่ประชาชนสามารถค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ทางการเงิน และเพื่อเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประชาชนกับหน่วยงานที่ดำเนินการให้ความรู้ทางการเงินต่อไป

 
loading