Home -> New Update

 

มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี 2562

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการบริโภค ภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” หรือ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

จากการที่มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศ 12,901,825 คน มียอดใช้จ่ายแล้ว 12,450 ล้านบาท และเนื่องจากยังมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” อีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะจับจ่ายใช้สอยแต่ยังไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้กระทรวงการคลังจึงได้ออกแบบมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” หรือ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่าน g-Wallet ช่อง 2 โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย และปรับปรุงวิธีดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน 

มาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” จะเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเพิ่มจำนวนไม่เกิน 2 ล้านคน  โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์สำหรับการใช้จ่ายจากเงินของประชาชนเองผ่าน g-Wallet ช่อง 2 เป็นเงินชดเชย ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท (เงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท) และเงินชดเชยร้อยละ 20 ของยอดใช้จ่าย ในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินชดเชยไม่เกิน 4,000 บาท) เช่นเดียวกับ “ชิมช้อปใช้ เฟส 1 และ 2” จะแตกต่างเพียงไม่มีวงเงินสนับสนุน 1,000 บาท ผ่าน g-Wallet ช่อง 1 

นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ให้สะดวกมากขึ้น โดยสามารถ ใช้จ่ายได้ทุกจังหวัดรวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน อีกทั้ง สามารถใช้จ่ายค่าบริการแพ็กเกจที่พักพร้อมการเดินทางหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้จะมีการพัฒนาระบบเชื่อมโยงการจ่ายค่าสินค้าและบริการผ่านระบบที่สามารถตรวจสอบ การทำธุรกรรมได้ 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562  โดยการลงทะเบียนในวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2562 จะเปิดวันละ 750,000 ราย แบ่งเป็น 2 รอบ ในเวลา 6.00 น.  และเวลา 18.00 น. เช่นเดิม และส่วนที่ลงทะเบียนไม่ครบถ้วนจะนำมาเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 นอกจากนี้ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” มีความพิเศษที่จะอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนให้แก่ผู้สูงวัย โดยจะเปิดรอบลงทะเบียนให้ผู้มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 ประมาณ 500,000 ราย ซึ่งผู้ลงทะเบียนวันแรกจะสามารถเริ่มใช้สิทธิ์ได้ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ในเฟส 1 และ 2 สามารถเริ่มใช้จ่าย  g-wallet ช่อง 2 ทุกจังหวัดได้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 โดยมาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” นี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2563 ซึ่งขยายระยะเวลาให้ผู้ได้รับสิทธิ์เดิมด้วย สำหรับร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ภายในเดือนมกราคม 2563

สอบถามขอ้มูลเพิ่มเติม:

1) ข้อมูลมาตรการติดต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02 2739020 ต่อ 3523 3508 

2) การรับสมัครร้านค้า ติดต่อกรมบัญชีกลาง โทร 02 2706400 กด 7

3) App “เป๋าตัง” ติดต่อธนาคารกรุงไทย โทร 02 1111144

4) ข้อมูลเที่ยวชิมช้อปใช้ ติดต่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร 1672

ที่มา : กระทรวงการคลัง

 

2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยว

ททท. มอบของขวัญส่งท้ายปลายปี ชวนคนไทยเที่ยวภายใต้แคมเปญ “ถึงเวลาทัวร์ให้ทั่วไทย” กับ 2 มาตรการ “เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก” และ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี คาดมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการท่องเที่ยว 400 ล้านบาท

 “เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้การบูรณาการความร่วมมือกับผู้ประกอบการขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยว นำสินค้าและบริการ เช่นโรงแรม ที่พัก สายการบิน สปา ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก เพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนเลือกสินค้าและบริการผ่านทางเว็บไซต์ www.วันธรรมดาราคาช็อกโลก.com สามารถรับสิทธิ์ได้สัปดาห์ละ 1 ครั้งโดยเข้าไปลงทะเบียน และเลือกสินค้าและบริการที่ต้องการ ตั้งแต่เที่ยงคืนวันเสาร์จนถึงเที่ยงคืนวันพฤหัสบดี จากนั้นระบบจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ์ทุกวันศุกร์ โดยจะประกาศรายชื่อทุกสัปดาห์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 รวมทั้งหมด 8 ครั้ง เมื่อลงทะเบียนแล้วจะสามารถเข้าไปเลือกสินค้าทางการท่องเที่ยวได้จาก 9 กลุ่มที่ปรากฏ จากนั้นจะได้รหัสคูปอง (promotional code) แล้วชำระเงินตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการนั้น ๆ ภายใน 5 วัน มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ โดยเว็บไซต์จะแสดงจำนวนรายการที่เหลือจากการจองอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการที่มอบราคาพิเศษโดยไม่จำกัดจำนวนสิทธิ์ ดังนั้น นักท่องเที่ยวสามารถดูข้อมูลได้จากเว็บไซต์ดังกล่าว แล้วไปใช้บริการในราคาพิเศษได้เลย โดยไม่ต้องสำรองสิทธิ์ล่วงหน้าแต่ทั้ง 2 ส่วน จะต้องใช้สิทธิ์ในวันธรรมดา(วันจันทร์ถึงวันศุกร์) ยกเว้นในกลุ่มโรงแรมที่พักที่ใช้บริการได้วันจันทร์-พฤหัสบดี โดยไม่สามารถโอน/เปลี่ยน/แลก/ทอน เป็นเงินสดหรือไม่สามารถยกเลิก/แก้ไขรายการได้ทุกกรณี

ทั้งนี้ ผู้ร่วมแคมเปญเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (ณ วันลงทะเบียน) สามารถลงทะเบียนเพื่อสำรองสิทธิ์ได้ที่ www.tourismthailand.org/เที่ยววันธรรมดา หรือ www.วันธรรมดาราคาช็อกโลก.com

รายละเอียดการลงทะเบียนร่วมกิจกรรม

1. ลงทะเบียนบนเว็บไซต์ www.วันธรรมดาราคาช็อกโลก.com และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน

2. เริ่มลงทะเบียนร่วมกิจกรรมทุกวันเสาร์ เวลา 00.00 น. ถึง วันพฤหัสบดี เวลา 23.59 น.

3. ลุ้นรับสิทธิ์ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นต้นไป

4. สามารถร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน – 26 ธันวาคม 2562

5. การรับแพ็กเกจโครงการจะทำการนัดหมายมารับที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือ จัดส่งของรางวัลไปทางไปรษณีย์ ตามชื่อ ที่อยู่ที่ให้ไว้ตามความเหมาะสม

ส่วนมาตรการ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” ได้รับความร่วมมือจาก ผู้ประกอบการนำสินค้าและบริการแบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่

          1. หมวดการเดินทาง

          2. หมวดที่พัก

          3. หมวดอาหารและเครื่องดื่ม

          4. หมวดแพ็กเกจทัวร์

          5. หมวดแหล่งท่องเที่ยว

ทั้ง 5 หมวดจะมีสินค้าและบริการรวมทั้งหมด 40,000 รายการ ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปใช้สิทธิ์ เลือกซื้อสินค้าและบริการนั้นได้ ในราคา 100 บาท (โดยจำกัดให้สิทธิ์วันละ 10,000 สิทธิ์ สิทธิ์ละ 1 รายการ) เปิดให้ลงทะเบียน 4 วัน คือวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 11-12 ธันวาคม 2562 เวลา 06.00-24.00 น. หรือจนกว่าจะมีผู้รับสิทธิ์เต็มจำนวนในแต่ละวัน

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียน รับสิทธิ์ได้ที่ www.tourismthailand.org/ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย หรือ www.100เดียวเที่ยวทั่วไทย.com

ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์

 

3. สถานการณ์การปิดตัวโรงงานอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงกรณีกระแสข่าวเรื่องการปิดกิจการโรงงานและการเลิกจ้างงานในปัจจุบันว่าจากข้อมูล กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 12 พ.ย. 62 ถึงแม้ว่ามีการยื่นขอปิดกิจการโรงงาน จำนวน 1,391 โรงงาน แต่เมื่อเทียบกับการขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่ซึ่งมีถึง 2,889 โรงงาน พบว่าโรงงานเปิดใหม่ยังมากกว่าปิดกิจการสูงถึง 107% ในส่วนของแรงงานถึงแม้ว่า มีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการจำนวน  35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่ สูงถึง 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังมีโรงงานหลายแห่งต้องการรับแรงงานเพิ่มเติมอีกจำนวนมากในส่วนการลงทุนใหม่ จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการโรงงานเดิม พบว่าในปี 2562 มีเงินลงทุนเพิ่มเติมใน กิจการโรงงานถึง 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วถึง 36.6% ภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานใน ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสภาพถดถอยแต่อย่างใด

1. โรงงานที่ประกอบและขยายปี 2562 เทียบกับปี 2561 จำนวนโรงงานที่ประกอบและ ขยายปี 2562 มีเงินลงทุนมากกว่าร้อยละ 36.32

1.1 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายปี 2562 มากที่สุด 3 ลำดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่น ๆ) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 474 โรงงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 410 โรงงาน และกลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้ง การซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ จำนวน 323 โรงงาน

1.2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายปี 2562 ใช้เงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่น ๆ) คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เงินลงทุน 84,166.95 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เงินลงทุน 48,541.96 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตเคมี เงินลงทุน 39,034.39 ล้านบาท

1.3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายปี 2562 มีการจ้างงานมากที่สุด 3 อันดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่น ๆ) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 31,711 คน กลุ่มผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 19,583 และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 14,868 คน                 

2. โรงงานที่ปิดกิจการปี 2562 เทียบกับปี 2561 จำนวนโรงงานที่ปิดกิจการปี 2562 จำนวนโรงงานน้อยกว่าน้อยกว่าปี 2561 ร้อยละ 22.07 จำนวนคนงานน้อยกว่าร้อยละ 0.96

2.1 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการปี 2562 จำนวนมากที่สุด 3 ลำดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่น ๆ) คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช จำนวน 144 โรงงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ  จำนวน 133 โรงงาน และกลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ จำนวน 124 โรงงาน

2.2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการ ปี 2562 มีการเลิกจ้างงาน 3 อันดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่น ๆ) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายยกเว้นรองเท้า จำนวน 5,848 คน กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้ง  การซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์จำนวน 4,311 คน และกลุ่มสิ่งทอ จำนวน 3,243 คน

หมายเหตุ ข้อมูลตามคำขออนุญาตประกอบและขยายกิจการ และการแจ้งจากหน่ายทะเบียนที่แจ้งกับกระทรวงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.โรงงาน

ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม