ช่วงปี 2009 ถึง 2013 ไทยมีแนวโน้มการขยายตัวของการออกไปลงทุนต่างประเทศ (FDI outflow) อย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดในปี 2013 ที่ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยช่วงปี 2011 และ 2012 ไทยมีมูลค่าการออกไปลงทุนสูงกว่ามูลค่าการเข้ามาลงทุนในประเทศ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มจะเปลี่ยนแปลง จาก “ผู้รับการลงทุน เป็น นักลงทุนในต่างประเทศ” แม้ว่าในปี 2014 จะมีแนวโน้มที่ลดลงอันเกิดจากวิกฤติทางการเมืองก็ตาม
รูปภาพที่ 1 มูลค่าการลงทุนของไทย จากต่างประเทศ (FDI Inflow) และ
ที่ไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ (FDI Outflow) ปี 2009 -2014
ในการนี้ มูลนิธิ สวค. ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึก บริษัท “ยักษ์ใหญ่” ในประเทศหลายบริษัท ทั้งด้านพลังงาน ก่อสร้าง และเกษตรกรรม พบว่าบริษัทเหล่านี้ มีรายได้จาก “ต่างประเทศสูงกว่าในประเทศ” โดย หลายบริษัทมีรายได้จากต่างประเทศสูงกว่าจากไทยมากกว่า 3 เท่า
คำถามที่น่าสนใจ คือ “เหตุผลจำเป็นใดที่พวกเขา และไทยจะต้องออกไปยังต่างประเทศ” และที่สำคัญกว่า คือ “จะออกไปได้อย่างไร และ รัฐต้องทำอย่างไรบ้าง” เพื่อส่งเสริมการออกไปลงทุนดังกล่าว ในบทความนี้จะกล่าวถึง สถานการณ์ในปัจจุบันของไทย และบทเรียนจากต่างประเทศ ดังนี้
กล่องที่ 1: เหตุผลของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ(ทางทฤษฎี)
ในทางทฤษฎีได้มีการรวบรวมเหตุผลและประโยชน์ของการออกไปลงทุนยังต่างประเทศออกเป็น 5 ปัจจัย ได้แก่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านค่าเงินนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ค่าเงินแข็งจะส่งผลลบต่อการส่งออก ซึ่งในขณะเดียวกันค่าเงินจะแข็งเมื่อมีการลงทุนในประเทศมากกว่าการออกไปลงทุนต่างประเทศ การออกไปลงทุนยังต่างประเทศจึงช่วยให้ค่าเงินอ่อนลง (หรือไม่แข็งจนเกินไปนัก) ซึ่งมีส่วนช่วยในการส่งออกด้วย |
ประเทศญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนเงินลงทุนในต่างประเทศสูงกว่าการเงินลงทุนจากต่างประเทศถึง 50 เท่า (1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2015) โดย ญี่ปุ่นเป็นประเทศหลักที่มาลงทุนและประสบความสำเร็จในไทย ทั้งที่ในช่วงเริ่มต้นนั้นเอกชนญี่ปุ่นไม่ค่อยกล้าออกไปลงทุนยังต่างประเทศเท่าใดนัก แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นจะส่งเสริมการออกไปลงทุนยังต่างประเทศลดลง แต่การศึกษาถึงอดีตของการส่งเสริมการลงทุนยังต่างประเทศของญี่ปุ่นก็น่าสนใจไม่น้อย
ยุคทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) สามารถแบ่งตามการพัฒนาออกได้เป็น 3 ยุค คือ ยุคเร่งฟื้นฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเน้นเศรษฐกิจในประเทศ ยุคพัฒนาเพื่อการส่งออก ยุคของการออกไปลงทุนยังต่างประเทศ
ใน 2 ยุคแรกนั้น เริ่มต้นจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ บริษัทอุตสาหกรรมเริ่มเปิดตัวใหม่อีกครั้งโดยมีตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนเพื่อซ่อมแซมบูรณะหลังสงคราม ต่อมา ได้เกิดสงครามเกาหลีขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าในเกาหลีโดยเฉพาะจากทหารสัมพันธมิตร (ซึ่งมี สหรัฐฯ เป็นกำลังหลัก) เพิ่มสูงขึ้น ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ใกล้เกาหลีที่สุด (หากไม่นับจีนซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯในขณะนั้น) จึงได้อานิสงค์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกไปเกาหลีและพัฒนาสู่การส่งออกไปยังประเทศอื่นโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในกาลต่อมาด้วย
หลังสงครามเกาหลีญี่ปุ่นพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อการส่งออกไปมาก อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถในการส่งออก ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเร็วมาก ทั้งจากกระบวนการทางตลาดเอง และจากการบีบคั้นจาก สหรัฐฯ ภายใต้การประชุม Plaza Accord ที่เสนอให้ญี่ปุ่นต้องทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น (เพื่อลดภาวการณ์ขาดดุลการค้าของ สหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น)
ค่าเงินที่แข็งขึ้น และการกีดกันจากต่างประเทศ ประจวบกับ ภาวะการขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงที่สูงขึ้น วัตถุดิบหายากขึ้น และแพงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจ ก้าวไปสู่ “ยุคของการออกไปลงทุนยังต่างประเทศ” ซึ่งช่วงแรกเป้าหมายอยู่ที่เอเชียตะวันออก อย่าง เกาหลี และไต้หวัน จวบจนประเทศเหล่านี้ เข้าสู่ภาวะการพัฒนาเศรษฐกิจจน “ไม่ต้องการการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อจ้างงาน” และ “ต้องออกไปลงทุนต่างประเทศ” แทน ญี่ปุ่นจึงได้หันเป้าหมายไปสู่ประเทศ ในแถบอาเซียน และขยายไปยังประเทศอื่นๆอีกทั่วโลก (หลังอาเซียนเริ่มหาแรงงานยาก และค่าแรงสูงขึ้น) อย่างในปัจจุบัน ในช่วงแรกเอกชนญี่ปุ่นยังไม่กล้าออกไปนอกประเทศอยู่ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการออกไปลงทุนยังต่างประเทศ 5 นโยบายหลัก ได้แก่
(1) การให้ข้อมูลแก่นักลงทุน และรัฐบาลญี่ปุ่น โดย รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญลำดับแรกในการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ โดยข้อมูลที่ถูกต้องจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม ในการนี้ญี่ปุ่นจึงได้จัดตั้งหน่วยงาน JETRO ขึ้นรับผิดชอบ เพื่อเสาะแสวงหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญแก่เอกชนที่สนใจ และภาครัฐในการกำหนดนโยบาย
(2) เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan)นอกจากการให้ข้อมูลแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า อุปสรรคที่สำคัญคือการขาดเงินทุนในการ “รุกตลาดต่างประเทศ” จึงได้จัดตั้งธนาคาร JBIC และ EXIM ขึ้นเพื่อสนับสนุน โดยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่นักลงทุน ทั้งนี้การจัดตั้งเป็นธนาคารนั้นมีความเหมาะสม คือ ธนาคารผู้ให้กู้นั้นจะเป็นผู้คัดกรองโครงการได้เป็นอย่างดี เพราะหากธนาคารอนุมัติโครงการไม่เหมาะสมมากๆ หรือ อนุมัติช้า หรือ ประชาสัมพันธ์น้อย จนมีผู้ขอกู้น้อย ก็จะกระทบกระเทือนต่อรายได้ของธนาคาร และพนักงานในธนาคารด้วย การตั้งเป็นธนาคารแบบนี้จึงจูงใจให้ธนาคารทำงานเต็มประสิทธิภาพ
(3) ประกันความเสี่ยง (insurance)โดยเฉพาะ ประกันการล้มละลาย ถือเป็นมาตรการที่ “ตอบโจทย์” ความไม่กล้าเสี่ยงของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในช่วงแรกได้เป็นอย่างดี การให้ทำประกันความเสี่ยงนี้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้มาก และค่อนข้างประสบความสำเร็จกล่าวคือ ในช่วงแรกญี่ปุ่นจัดตั้งเป็นกองทุนเท่านั้น แต่ต่อมาได้พัฒนามาเป็น NEXI ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจโดยสมบูรณ์
(4) ความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น หรือ Mega Project เพื่อนักลงทุนชาวญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า การจัดหาตลาดให้นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถทำกำไรเพื่อลงทุนต่อระยะยาวในประเทศนั้นๆได้นั้น แนวทางหนึ่ง คือ การหาตลาดให้ ผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจัดหาวิธีการ “ผ่องถ่าย” เงินออมที่ไม่รู้จะลงทุนอะไรในประเทศ ที่ถ้าเก็บไว้นอกจากจะเสียโอกาสแล้ว ยังทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นอีกด้วย ด้วยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศเป้าหมาย (ซึ่งญี่ปุ่นให้ต่ำมากได้ เนื่องจากดอกเบี้ยในประเทศญี่ปุ่นต่ำมากๆอยู่แล้ว) ซึ่งก็มีข้อแม้ของการปล่อยเงินกู้เพื่อการช่วยเหลือโดยทั่วไปให้ “จ้างบริษัทญี่ปุ่น” รับสัมปทาน
(5) ความตกลงระหว่างประเทศ นโยบายสุดท้าย คือ การแก้ปัญหา อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุน ผ่านความตกลงระหว่างประเทศในการลดอุปสรรค อาทิ การกีดกันการค้าทั้งทางภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมถึง ความตกลงด้านการลงทุนอย่างภาษีซ้อนด้วย
นโยบายทั้ง 5 ร่วมกับความสามัคคี และการไว้เนื้อเชื้อใจของคนในชาติ โดยเฉพาะการที่บริษัทใหญ่ชาวญี่ปุ่นมักจะมีบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ตามไปเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนด้วย นักลงทุนญี่ปุ่นจึงสามารถขยับขยาย และวางรากฐานการลงทุนในต่างประเทศได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกแนวทางการส่งเสริมบริษัทใหญ่ให้ออกไปลงทุนต่างประเทศ และคงการส่งเสริมแต่เฉพาะระดับ SMEs เท่านั้น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า บริษัทขนาดใหญ่ควรกลับมาลงทุนในประเทศ ส่วน SMEs ญี่ปุ่นที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มีความเชี่ยวชาญเชิงลึกมาก จนปรับตัวยากนั้น ควรออกแสวงหาโอกาสในต่างประเทศแทนในประเทศที่การทำธุรกิจยากขึ้น
อนึ่ง นโยบายส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ลดการลงทุนในต่างประเทศและกลับมายังประเทศแม่ เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศนั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องและประสบความสำเร็จ ซึ่งในความคิดเห็นของ ผู้เขียน มองว่าการเลิกกิจการที่มีกำไรในต่างประเทศ เพื่อมาช่วยบริษัทแม่ในประเทศที่การผลิต/การดำเนินการแบบเดิมๆ ไม่อาจแข่งขันได้นั้น ไม่น่าจะใช่ทางที่ถูกต้อง บริษัทใหญ่รายบริษัท จึงเลือกปล่อย หรือ ปฏิรูปพลิกโฉม บริษัทแม่ แต่ในขณะเดียวกัน รักษาบริษัทลูกในต่างประเทศที่ทำกำไรไว้แทน
ประเทศจีน
หลังการเปิดประเทศของจีนมีบริษัทขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ทั่วโลกเข้ามาลงทุนยังจีน บริษัทในประเทศจีนเองก็ค่อยๆ พัฒนาจากผู้รับจ้างผลิต มาเป็นผู้ผลิตเพื่อป้อนโลก (GLC) และกลายมาเป็นผู้ส่งออกระดับโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกดังกล่าวส่งผลให้ ค่าแรงในจีนสูงขึ้น เงินทุนสำรองล้น ค่าเงินหยวนแข็ง ตลาดอิ่มตัว และถูกกีดกันทางการค้า นอกจากนั้น จีนยังมีวิสัยทัศน์ในการกลับมาเป็น “เจ้าโลก” อีกครั้ง ร่วมกับ การส่งเสริมให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารของประเทศออกไปหาความมั่งคั่งยังต่างประเทศ ส่งผลให้จีนมีนโยบาย และเป้าหมายในการออกไปลงทุนยังต่างประเทศที่น่าสนใจอย่างมาก
ในอดีตนั้น จีนไม่มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนยังต่างประเทศ มีแต่การจำกัดการออกไปลงทุนยังต่างประเทศ จวบจนปี 2003 จีนได้หันมาใช้นโยบาย Going Global ส่งผลให้การลงทุนยังต่างประเทศเริ่มขยายตัว ในปัจจุบัน จีนได้กำหนดให้การลงทุนในต่างประเทศเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยการส่งออกของจีน ปัจจุบันจีนได้ผันตัวจากการเป็นผู้รับการลงทุน กลายมาเป็นผู้ลงทุนในต่างประเทศอันดับ 3 ของโลก และมีการลงทุนในประเทศตลาดใหม่อยู่เป็นอันมาก
รูปภาพที่ 2 มาตรการ และการลงทุนต่างประเทศของจีน
ที่มา: มูลนิธิ สวค.
เหตุผลสำคัญที่จีน ต้องออกไปลงทุนยังต่างประเทศนั้น มีอยู่หลากหลาย ดังนี้
(1) ในทางเศรษฐกิจ จีนพบปัญหาการกีดกันทางการค้า และค่าเงินหยวนก็เริ่มจะแข็งค่าขึ้น จากการที่มีเงินทุนสำรองมหาศาล ซึ่งได้จากดุลการค้าที่มากขึ้นทุกที
(2) ทางศักยภาพในการแข่งขันนั้น ค่าแรงของจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย อีกทั้ง ทรัพยากรต่างๆ ก็เริ่มจะลดลงจากการแข่งขันกันผลิตในประเทศ การออกไปลงทุนยังต่างประเทศจึงช่วยในเรื่องดังกล่าวได้
(3) ด้านตลาดนั้น นอกจากในประเทศจะเริ่มอิ่มตัวทำให้ต้องออกมองหาตลาดใหม่แล้ว ด้านการส่งออกยังประสบปัญหาการกีดกันจากต่างชาติ จีนจึงเลือกที่จะตั้งโรงงานปลายน้ำในต่างประเทศ แล้วนำเข้าสินค้ากลางน้ำจากจีนไปแปรรูปด้วย
(4) ทางด้านเทคนิคนั้น เนื่องจากจีนประสบปัญหาการขาดเทคโนโลยี และภาพลักษณ์ในเรื่องคุณภาพสินค้า แนวทางที่จีนจะพัฒนาได้เร็วที่สุดก็คือการซื้อเทคโนโลยี และกิจการที่ประสบความสำเร็จแล้วมาพัฒนาต่อ ซึ่งในระยะหลังของการลงทุนต่างประเทศของจีนนั้น การลงทุนซื้อ หรือ ควบรวม กิจการเพื่อเทคโนโลยีของจีนนี้ มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น
(5) ด้านรัฐบาลจีนเองนั้น ประสบปัญหา เงินทุนสำรองมหาศาล โดยเฉพาะ เงินสำรองจำนวนมากเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ที่รัฐบาลจีนต้องการลดความเสี่ยงในการถือครอง และลดความสำคัญของค่าเงินดังกล่าว กอปร กับนโยบายให้จีนกลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง อย่างนโยบาย Belt and Road (ทางสายไหม ทางบกและทางทะเล) ทำให้รัฐบาลจีนผลักดันการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้จีนมีเป้าหมาย ในการลงทุนต่างประเทศที่ท้าทายอย่างมาก 3 ข้อ คือ
1) มูลค่าการลงทุนในต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 17 ต่อปี
2) บริษัทชั้นนำของจีนขยายธุรกิจไปต่างประเทศ จำนวน 500 แห่ง
3) บริษัทขนาดใหญ่จำนวน 50 แห่ง ติดอยู่ในอันดับบริษัทชั้นนำ 500 แห่งของโลก
ในการนี้ จีน ได้ดำเนินมาตรการสำคัญ 3 ด้าน คือ รัฐนำเอกชนรายใหญ่/รัฐวิสาหกิจ – เอกชนรายใหญ่/รัฐวิสาหกิจ นำเอกชนรายเล็ก – พร้อมความช่วยเหลือด้านการเงิน ดังนี้
1.) รัฐนำเอกชนรายใหญ่ โดยรัฐบาลจีนจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น การทำโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แลกกับผลประโยชน์บางประการ เช่น บางประเทศอาจเป็นการร่วมลงทุนแล้วแบ่งปันกำไร หรือ บางประเทศอาจใช้วิธี “แลกกับเหมือง” ก็ได้ โดยมีข้อแม้สำคัญ คือ ต้องให้เอกชนของจีนเป็นผู้รับสัมปทาน ก่อสร้าง หรือ ร่วมทุน
2.) เอกชนรายใหญ่/รัฐวิสาหกิจนำเอกชนรายเล็ก โดย รัฐบาลจีนจะให้ความช่วยเหลือเอกชนรายใหญ่ในหลายรูปแบบ โดยมีข้อแม้ที่จะต้องช่วยเหลือ และ/หรือ จ้างงานจากเอกชนรายเล็กในระยะแรกรัฐวิสาหกิจจึงเป็นการลงทุนส่วนใหญ่ในต่างประเทศของจีน คือ ประมาณร้อยละ 70 ซึ่งในปัจจุบันเมื่อรายเล็กขยับขยายได้ หรือ ผันตัวเป็นเอกชนรายใหญ่ กอปรกับเอกชนรายใหญ่อื่นเริ่มมีศักยภาพไปลงทุนยังต่างประเทศได้มากขึ้น สัดส่วนของรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศจึงเหลือเพียง ร้อยละ 36 ในปัจจุบัน
3.) ความช่วยเหลือด้านการเงิน ที่สำคัญ มีได้แก่ เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 10 ปี สัญญายกเว้นภาษีซ้อน การทำประกันธุรกิจและการล้มละลาย และมาตรการช่วยเหลือทางภาษีต่างๆ
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแข่งขันกันเอง จีนได้มีนโยบายการกระจายอุตสาหกรรม ไปตามประเทศต่างๆ โดย แต่ละประเทศจีนได้กำหนดเป้าหมายของประเทศนั้นๆ เอาไว้ด้วย
สถานการณ์ในประเทศไทย
จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่ในประเทศนั้น พบว่า เกือบทั้งหมดเป็นการออกไปลงทุนด้วยต้นเอง มีบ้างที่เกิดจากการแนะนำเบื้องต้นในช่วงแรกจากภาครัฐ และเกือบทั้งหมด เกิดจากแรงขับด้านตลาดที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องแสวงหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่นั้น มักไม่ได้พึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐ (ยกเว้นที่เป็นรัฐวิสาหกิจ) แต่แรงขับของบริษัทส่วนใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มอุปโภคบริโภค และบริการ มาจากตลาดในประเทศที่จำกัด ทำให้บริษัทที่ต้องการขยายตัวไม่สามารถขยับขยายได้อีก จึงต้องมองและก้าวออกไปแสวงหาตลาดใหม่ ส่วนในบริษัทด้านแร่และพลังงานนั้น นอกจากด้านตลาดแล้ว ก็ออกไปแสวงหาทรัพยากรเพิ่มเติมด้วย
บริษัทขนาดกลาง แตกต่างกับบริษัทขนาดใหญ่เล็กน้อย กล่าวคือ แม้จะมาจากแรงขับด้านตลาดเหมือนกัน แต่ไม่ได้เกิดจากการขยับขยายไม่ได้ แต่เกิดจากคู่แข่งในประเทศที่มากมาย ตลาดใหม่ที่ประชากรมีความต้องการซื้อ (อุปสงค์) เพิ่มมากขึ้น จากทั้งรายได้ และประชากรที่มากขึ้น แต่อุสาหกรรในประเทศเหล่านั้นกลับพัฒนาตามไม่ทัน จึงเป็นช่องทางและโอกาสอันดีของบริษัทขนาดกลางชาวไทยในการทำกำไร และนำรายได้ส่วนหนึ่งกลับประเทศ
ด้านรูปแบบการลงทุนนั้น บริษัทขนาดใหญ่มักจะชอบการร่วมทุน (Merger and Acquisition) หรือซื้อกิจการ มากกว่าการเข้าไปลงทุนเองทั้งหมด (Green Field) ซึ่งแตกต่างจากบริษัทขนาดเล็กที่ขาดเงินลงทุนขนาดใหญ่ในการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ โดยมากจึงเป็นรูปแบบการเข้าไปลงทุนเองทั้งหมดเป็นหลัก
นโยบายของไทยในปัจจุบัน และข้อเสนอแนะ
หากพิจารณากระบวนการพัฒนาไปสู่ประเทศผู้ลงทุนของ จีน และญี่ปุ่น จะพบว่า ทั้ง 2 ประเทศนั้น พัฒนามาจากประเทศฐานผลิตเพื่อส่งออก ก่อนจะถูกปัจจัยบีบคั้น ทั้ง ค่าเงิน การกีดกันทางการค้า ค่าแรง วัตถุดิบ และตลาดที่อิ่มตัว ทำให้ต้องเป็นผู้ออกไปลงทุนยังต่างประเทศ
ไทยเองในปัจจุบันก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับประเทศทั้ง 2 จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องออกไปลงทุนยังต่างประเทศ (ซึ่งเอกชนรายใหญ่จำนวนมากมีวิสัยทัศน์ และดำเนินการด้านนี้ไปแล้ว) ยุทธศาสตร์การลงทุนต่างประเทศของไทย จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญจำเป็นและต้องจัดทำอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การลงทุนต่างประเทศของไทยเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และมีทิศทาง
ในการช่วยเหลือของภาครัฐนั้น หากเปรียบเทียบกับจีนและญี่ปุ่น จะเห็นว่า ไทยมีระดับความเข้มข้นที่น้อยกว่ามาก โดย แม้ว่าจะถูกระบุเป็นส่วนหนึ่งใน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แต่ทว่ากลับถูกกล่าวถึงเพียงแต่ว่าให้ ไทยให้ความสำคัญเท่านั้น โดยมิได้มีการระบุถึงนโยบาย หรือ แผนการที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ในปัจจุบัน นโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนจึงมีเพียงแค่ การให้ข้อมูล การนำพาไปดูงาน ออกงาน และจับคู่ธุรกิจ เป็นหลัก ซึ่งยังขาด “หน่วยงานเจ้าภาพ” เฉพาะ
ตารางที่ 1 แสดงสรุปนโยบายสำคัญที่ จีน และญี่ปุ่นใช้ ในการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ เปรียบเทียบกับไทย เห็นได้ว่า ทั้งจีน และญี่ปุ่น ใช้นโยบาย ทั้ง 4 เหมือนกัน คือ “การให้ข้อมูล” “การประกันความเสี่ยง” “การลงทุนขนาดใหญ่” และ “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” ในขณะที่ ญี่ปุ่นเลือกใช้ความตกลงระหว่างประเทศรูปแบบต่างๆในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เช่น การทำข้อตกลงเสรีทางการค้ากับไทย และอาเซียน เป็นต้น ในขณะที่จีนนั้นมีมาตรการทางภาษีสนับสนุนด้วย
ตารางที่ 1: สรุปนโยบายสำคัญที่จีน และญี่ปุ่นใช้ในการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ เปรียบเทียบกับไทย
นโยบาย |
จีน |
ญี่ปุ่น |
ไทย |
ให้ข้อมูล |
X |
X |
X |
ประกันความเสี่ยง |
X |
X |
EXIM? |
Mega Project |
X |
X |
- |
มาตรการภาษี |
X |
HQ? |
|
ความตกลงกับต่างประเทศ |
X |
? |
|
เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ |
X |
X |
EXIM? |
ที่มา: มูลนิธิ สวค.
สำหรับไทย จะเห็นว่าที่กระทำอยู่ในปัจจุบันนั้นมีเพียงการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเท่านั้น โดย หน่วยงานที่ให้ข้อมูลการลงทุนในประเทศต่างๆ ในไทย ที่เป็นหลักทางราชการ ได้แก่ BOI กระทรวงการต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้น จะมีหน่วยงานของ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ เช่น หน่วยวิจัยของธนาคารต่างๆ รวมถึง EXIM Bank ด้วย
ส่วนด้านการเงิน อย่างการประกันความเสี่ยง และให้เงินกู้นั้น พบว่า ธนาคารพาณิชย์ในไทยจำนวนมากยังมีการจัดการในประเด็นนี้ไม่มากเท่าที่ควรนัก ที่จะได้ความช่วยเหลือมักเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ในขณะที่การช่วยเหลือของ EXIM Bank นั้นก็ยังไม่มีมากเท่าที่ควร และไม่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้การลงทุนในประเทศตลาดใหม่หลายประเทศนั้นมักจะมีปัญหาด้านระบบสถาบันการเงิน รวมถึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงด้วย ความช่วยเหลือด้านการเงินจากในประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น
นโยบายหนึ่งที่ถือว่าได้ช่วยเหลือการลงทุนต่างประเทศบ้างในปัจจุบันจะได้แก่ นโยบายยกเว้นภาษี International Head Quarter ในไทย ซึ่งช่วยบริษัทที่ไปลงทุนต่างประเทศในการนำเงินกลับ ให้ไม่ต้องเสียภาษีซ้อน แต่ก็เฉพาะกับกิจกรรมของกิจการที่มีการดำเนินการตลอดห่วงโซ่มูลค่าในต่างประเทศเท่านั้น จึงไม่อาจช่วยเหลือ การลงทุนต่างประเทศเพื่อเสริมห่วงโซ่มูลค่าได้ (เช่น ไปลงทุนเพื่อวัตถุดิบ ในต่างประเทศ)
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ “ในปัจจุบันไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ” มีเพียงกล่าวถึง ใน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไทยจึง “ต้องเร่งให้มีแผนส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ” ซึ่ง มีข้อสังเกต สำคัญ 2 ประการ คือ
(1) ยุทธศาสตร์/มาตรการ สำคัญ ของ จีนและญี่ปุ่น แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้ การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และ การให้ความช่วยเหลือจากรัฐต่อรัฐ
(2) ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ “เล็กกว่า” จีน และญี่ปุ่น ดังนั้น ไทยจึงไม่สามารถใช้ยุทธศาสตร์กระจายการลงทุนไปทั่วโลกได้ แต่ต้องใช้ยุทธศาสตร์ “พุ่งเป้าหมาย”
ดังนั้น ในแผนส่งเสริมการลงทุนฯ ต้อง ประกอบด้วย 3 ด้าน โดยมีแนวทาง หรือ ผู้รับผิดชอบ ดังนี้
ก. ด้านการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้
ต้องกำหนด และ เน้นประเทศเป้าหมาย ทำการศึกษาทั้งภาพรวม และเจาะลึกในประเด็นด้านต่างๆ โดย อาจกำหนดจากประเทศตัวแทนที่จะเป็นประตูสู่ Trade Blocs สำคัญ ก็ได้
รูปภาพที่3: กลุ่มการค้า (Trade Blocs) ที่สำคัญของโลก
ข. ด้านการเงิน
แม้ประเทศญี่ปุ่น และจีน จะให้ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และประกันการลงทุน แต่ในปัจจุบัน มีรูปแบบการระดมทุนมากมาย ทั้ง การร่วมหุ้น (venture capital) การระดมทุนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Crowd Funding) ฯลฯ
ในบางประเทศในยุโรป ที่ส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ (Start Up) ใช้ระบบการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระ หารายได้จากการ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ และร่วมหุ้น กับกิจการที่คาดว่ามีศักยภาพดีในการลงทุน องค์กรเหล่านี้ จะทำการพิจารณา ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ นักลงทุนอย่างเต็มที่ เนื่องจาก ผลประกอบการ และความสำเร็จของนักลงทุนเหล่านี้ คือ ผลกำไร (และผลตอบแทนของพนักงาน) ขององค์กรนี้
ไทย อาจใช้รูปแบบเดียวกัน โดย อาจผ่านการทำงานของ ธนาคารรัฐ หรือ จัดตั้งหน่วยงานใหม่ ในรูปกองทุนหมุนเวียนก็ได้
ค. ความช่วยเหลือของรัฐต่อรัฐ
เนื่องจากไทย อาจไม่มีนโยบาย (หรือที่กระทำได้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลักเท่านั้น) ในการลงทุนระดับ Mega Project และอาจไม่มีอำนาจต่อรองมากเท่า ญี่ปุ่น และจีน แต่การช่วยเหลือของรัฐ โดยเฉพาะการเจรจาต่อรองเรื่องกฎระเบียบ หรือการปกป้องนักลงทุนไทยในต่างประเทศ นั้น ก็มีความจำเป็นอย่างมาก ทั้ง ในขั้นตอนของการจัดตั้งธุรกิจ และการดำเนินธุรกิจ ทั้งการช่วยเจรจากับรัฐ และเป็นที่ปรึกษาในยามต่างๆ
ดังนั้น แม้อาจเป็นการยากที่ไทยจะใช้วิธีการ เช่น การทำ Mega Project กับรัฐบาลประเทศเป้าหมาย หรือ การเจรจาความตกลงเสรีการค้า แต่สิ่งที่ไทยทำได้ และควรทำ คือ การจัดตั้งตัวแทนของรัฐประจำในประเทศเป้าหมาย เพื่อเป็นที่ปรึกษา และผู้ช่วยนักลงทุนไทย