Home -> New Update

ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก

วิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐฯ เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมามีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อเนื่องมายังสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอย่างมาก  ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในโลกดูเหมือนว่าจะไม่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นหัวรถจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีต  ปัญหาหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตของโลกที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บทบาทของประเทศจีนที่กลายเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลก มีแนวโน้มว่าได้ผ่านช่วงการทะยาน (take off) อย่างรวดเร็วมาแล้ว และก้าวเข้าสู่กระบวนการปรับตัวที่ช้าลง ในการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่สหภาพยุโรปมีข้อจำกัดด้านการใช้นโยบายการเงินการคลัง กับปัญหาการว่างงาน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเปราะบางที่สุด สำหรับประเทศญี่ปุ่นการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในสองครั้งที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และอาจจะได้ผลดีจากการปรับโครงสร้างและการปฏิรูปภาคการเงินของจีน สำหรับเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (emerging market) และประเทศที่พึ่งพาทรัพยากรเป็นรายได้หลักจะเผชิญความเสี่ยงอย่างรุนแรงจากการตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities price) จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้นโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ (non-economic factors)

ปรากฏการณ์การโจมตีของผู้ก่อการร้าย ในเดือนพฤศจิกายน 2558ในกรุงปารีสและการอพยพของผู้ลี้ภัยในยุโรป ได้สร้างความความตึงเครียดทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้คาดว่าจะทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 60 ล้านคนทั่วโลกและจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงด้านห่วงโซ่อุปทานของโลก (global supply chain) และการเคลื่อนย้ายหมุนเวียนทั้งสินค้า/บริการ รวมถึงปัจจัยการผลิตของโลก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างน้อย 2ประการ

ประการแรกเนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือมีเส้นทางสำคัญอยู่ 3 เส้นทาง ได้แก่
คลองสุเอซ (Suez) ช่องแคบฮอมุซ (Hormuz) และช่องแคบมะละกา (Malacca) ซึ่งร้อยละ 80 ของการขนส่งน้ำมันดิบของโลกผ่านช่องทางนี้ ทำให้ต้นทุนการขนส่งและการประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประการที่สองปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศผ่านจุดสำคัญคือ เซินเจิ้นและฮ่องกงกว่าร้อยละ 14.8 ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีและก่อการร้ายได้ตลอดเวลา

รูปภาพที่ 1: ปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบต่อวันตามเส้นทางต่างๆ

1-1

นอกจากนี้ในปี 2558ปรากฏการณ์ภัยพิบัติเกี่ยวกับสภาพอากาศ “เอลนีโญ” มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเป็นปีที่โลกประสบภัยแล้งและอุณหภูมิสูงสุดในรอบ20 ปี ซึ่งทำให้ผลผลิตทางด้านการเกษตร ของทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบ และมีผลต่อความเสี่ยงในการจัดการวัตถุดิบและการตลาดมากขึ้นซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกจะเป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวของ GDP โลก

รูปภาพที่ 2: ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

1-2

รูปภาพที่ 3: การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกส่งผลกระทบทางลบต่อ GDP ของประเทศส่วนใหญ่ในโลก

1-3

Source: NOAA (2016)

 

ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (economic factors)

ประเด็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ร่วมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดความไม่แน่นอนและผันผวนต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าโลก รวมทั้งการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ก็กำลังสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งของการเปลียนแปลงสำคัญของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน หลังจากความไม่มีเสถียรภาพทางด้านการเงินหลังจากการล่มสลายของเลห์แมนบราเธอร์ส(Lehman Brothers) เมื่อปี 2551นำมาซึ่งความเสี่ยงทางการเงินและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่อย่างชัดเจน

China Factors: การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในช่วงปี 2543-2558 ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดเป็นอันดับสองของโลกรายได้ต่อหัวและค่าจ้างแรงงานของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชากรชนชั้นกลางของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่ภาคการผลิตจะเติบโตในอัตราที่ช้าลง สอดรับกับภาคบริการที่ขยายตัวได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่เติบโตช้าลงการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น

รูปภาพที่ 4: สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของการบริโภคของจีน

1-4

จากการวิเคราะห์ของ BCG พบว่าค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในช่วง 2558-2563 จะขยายตัวร้อยละ 9 ต่อปีแต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากคนชั้นกลางถึงร้อยละ 17 การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยทำงานร้อยละ 14 และการเพิ่มขึ้นของธุรกิจ e-commerce ร้อยละ 20

รูปภาพที่ 5: การนำเข้าสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) ของจีนลดลงต่อเนื่อง

1-5

นอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของจีนที่ขยายการผลิตไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำและทำให้การนำเข้าชิ้นส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง  ปริมาณการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบ สินแร่ และพลังงานลดลงเช่นเดียวกันในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับภาคการเงินของจีนหลังจากที่จีนสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศ (international reserve) ที่เกิดขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างเนื่อง เมื่อการเติบโตของการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง จำเป็นที่ภาคสถาบันการเงินของจีนจะต้องมีการปฏิรูป รวมทั้งการนำเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในการกำหนดค่า SDR (Special Drawing Rights) จนทำให้เงินหยวนกลายเป็นเงินสกุลสำคัญของโลกซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 ขึ้นตอนสำคัญคือ ขั้นตอนที่ 1 การใช้ในการซื้อขายสินค้าและหลักทรัพย์ทางการเงิน (medium of transaction) ขั้นตอนที่ 2 การใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนสำหรับคนต่างชาติ(safe asset) และ ขั้นตอนที่ 3 การใช้ในการกำหนดค่าเงินสกุลอื่นๆ ของโลก

รูปภาพที่6: น้ำหนักของเงินสกุลต่างๆในการกำหนดค่า SDRของ IMF

1-6

ในเดือนพฤษภาคม 2558 ถึงเดือนมกราคม 2559 เมื่อดัชนีการจัดซื้อจัดจ้าง (Purchasing Manager Index: PMI) ของจีนปรับตัวลงมาอยู่ในระดับกว่า 50 จุดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ขายเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปเงินหยวนออกมากว่าร้อยะ 8 ของเงินสำรองทั้งหมด ทำให้นักลงทุนคาดว่าจีนจะลดค่าเงินลงอีกจนทำให้ค่าเงินหยวน offshore มีค่าแตกต่างกับ onshore ค่อนข้างมาก ธนาคารกลางจีนแทรกแซงตลาด offshore เพื่อป้องกันการโจมตีค่าเงินหยวน จนทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินหยวนข้ามคืน (overnight rate) ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30ต่อปี พร้อมๆกับการปรับตัวลงของตลาดหุ้นจีน(Shanghai Composite Index) ที่เปิดปี 2559 มาครึ่งเดือนลดลงมากกว่าร้อยละ 10 ทันที

Post-QE Factors: ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้พิมพ์เงินเพื่อซื้อพันธบัตรของสถาบันการเงินและภาคเอกชนจำนวนมาก (Quantitative Easing) ในช่วงปี 2551-2557 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์เงินของสหรัฐฯ จนทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯและเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น จนเป็นที่มาของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในปัจจุบัน โดยผลข้างเคียงจากการใช้ QE ทำให้เม็ดเงินจำนวนมากไหลของสู่ตราสารทางการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก แต่กลับส่งผลต่อภาคการผลิตและการจ้างงานของประเทศต่างๆน้อยมาก เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการ QE และมีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นทำให้เพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศต่างๆในโลกที่จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้นอีก

รูปภาพที่ 7: โครงสร้างการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ

1-7

หลังวิกฤติทางการเงินในปี 2551 ปรากฏว่าต่างชาติถือครองพันธบัตรสหรัฐเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตร (yield) จะต่ำมากและก็ยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำภายใต้ภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นทำให้คาดว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 จะมีทิศทางเป็นลบและผันผวนโดยเศรษฐกิจโลกบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงในระยะกลาง(medium term growth) เพราะการเจริญเติบโตที่มีศักยภาพ(potential growth) จะถูกตรึงไว้ด้วยผลิตภาพการผลิตของแรงงาน (productivity of labor) ที่ต่ำลง/ประชากรที่สูงอายุมากยิ่งขึ้น และความบอบช้ำหรือมรดกของวิกฤตการเงินโลก หนี้สูง, ลงทุนต่ำและภาคธนาคารที่อ่อนแอยังคงเป็นภาระของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่(emerging market) จำนวนมากยังคงต้องเผชิญกับการปรับอันดับเครดิตให้ต่ำลงหลังวิกฤติเศรษฐกิจและการลงทุนที่เคยร้อนแรงของประเทศเหล่านี้

รูปภาพที่ 8: คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2559

1-8

 

แนวโน้มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่มีการสร้าง spillovers ทั่วโลกและ spillbacks โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของจีนที่จะเป็นรูปแบบการเจริญเติบโตใหม่ (new normal)และการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ (normalization) ของนโยบายการเงินของสหรัฐฯมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัว ซึ่งหมายความถึงจะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจอเมริกา และจีน รวมทั้งเศรษฐกิจโลก เป็นข้อแม้ที่สำคัญคือ จีนและสหรัฐฯ ต้องจัดการกับสิ่งท้ายทายใหม่นี้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างราบรื่นอย่างน้อย 2 ประการที่สำคัญ

ประการแรกการที่ประเทศจีนได้เปิดตัวการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่จะยกระดับรายได้และมาตรฐานการดำรงชีวิตเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน(new normal) ที่ต้องอาศัยภาคบริการ (แทนการส่งออก) และการบริโภคภายในที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนที่น้อยลงในสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities)และการผลิต แต่นโยบายการเงินของจีนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะจะต้องดำเนินการปฏิรูปสถาบันการเงิน นั่นคือ การนำเงินหยวนสู่การเป็น international currency ในขณะที่จีนต้องรักษาความมั่นคงทางการเงินควบคู่กันไปด้วย ซึงผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2558เป็นต้นมาคือ ความกังวลของนักลงทุนต่อการเปลี่ยนผ่านของประเทศจีนที่อาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอลง ทำให้มีแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทั้งราคาน้ำมัน เหล็ก และสินค้าเกษตรอื่นๆ ซึ่งนั่นหมายถึง ผลกระทบต่อประเทศที่ส่งออกทรัพยากรอย่างรัสเซีย ออสเตรเลีย บราซิล รวมทั้งประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ญี่ปุ่นดูเหมือนว่าจะได้รับผลบวกจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของจีนและการ normalized นโยบายการเงินของสหรัฐฯ เพราะค่าแรงในจีนที่สูงขึ้นบวกกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามาก
ทำให้เงินเยนญีปุ่นและภาคการผลิตของญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นกว่าอดีต

ยุโรปผลจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องส่งผลให้ภาคบริการและการผลิตค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ปริมาณการค้ากันเองภายในกลุ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ภาครัฐบาลและภาคการธนาคารยังติดปัญหาในอดีตเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข

ประเด็นที่สองการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวข้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเฟดได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าอัตราที่คาดว่าจะปรับขึ้น บางครั้งจะยืนอยู่ในระดับต่ำจนนานพอ (เพื่อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ) บางครั้งการเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเศรษฐกิจโลกอัตราดอกเบี้ยต่ำมีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนของนักลงทุนสูงขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงทางการเงินและการประเมินมูลค่าที่สูงขึ้น ทั้งหุ้นพันธบัตรรัฐบาลและเครดิตองค์กร ดังนั้นเฟดยังเดินหน้าปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักในตลาดการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธันวาคม2558ที่ผ่านมา พร้อมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐฯ จะมีส่วนทำให้การจัดหาเงินทุนสำหรับผู้กู้สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) และประเทศกำลังพัฒนา (developing countries) อย่างแน่นอน แต่ Fed มีความจำเป็นต้องทำเพราะตลาดตราสารหนี้ที่เปราะบาง (ราคาตราสารหนี้สูง จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ) อาจจะพังลงมาอย่างรวดเร็วซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงได้

โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปเชื่อว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีระบบการเงินและสถาบันการเงินที่ดี จะเตรียมความพร้อมที่ดีกว่าสำหรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ในอดีตที่ผ่านมาความสามารถในการรับแรงกระแทกจากวิกฤตหลายครั้งเหมือนจะหักล้างความเชื่อนั้นไปกลับกลายเป็นตลาดเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนา (emerging and developing economies) ที่ตอบสนองต่อวิกฤตการเงินโลก ด้วยวงจรของมาตรการการเงินและการคลังแบบดั้งเดิมโดยมาตรการรับแรงกระแทกเหล่านี้นำไปสู่ปัจจัยที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในเวลาต่อมาอย่างไรก็ตามนโยบายเหล่านี้มาพร้อมกับการที่ภาคเอกชนมีการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้นมาก (leverage) และภาครัฐหลายประเทศก็มีหนี้เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งซึ่งอาจจะทำให้บริษัทขนาดใหญ่เกิดผิดนัดชำระหนี้ได้ ทำให้เกิดประเด็น currency mismatches’ ที่กระจายไปยังภาคธนาคารและภาครัฐบาลซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะเรียกว่า “การบริหารความเสี่ยงด้านขาลง” ซึ่งจะบริหารจัดการได้ถ้าได้รับแรงสนับสนุนจาก 1) อุปสงค์รวมในประเทศที่เพียงพอ 2) มีการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และ 3) การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งนี้ประเทศที่พัฒนาแล้ว (ไม่รวมสหรัฐฯและอังกฤษ) ยังจะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดจะต้องสื่อสารการตัดสินใจในการใช้นโยบายที่จำกัดความมเสี่ยงร่วมกันอย่างชัดเจน

ในขณะที่สหภาพยุโรปจะต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้เสียที่มีมูลค่ากว่า 9 พันล้านยูโร ซึ่งมีสาเหตุมาจากวิกฤตหนี้ในยุโรปในช่วงที่ผ่านมา โดยภาคธนาคารจะต้องเพิ่มอุปทานของสินเชื่อที่มีต่อภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และภาคครัวเรือนมากยิ่งขึ้น  เพื่อให้เป็นแหล่งที่พักของเงินเพื่อการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตและหล่อเลี้ยงความเชื่อมั่นของตลาด

สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่(emerging market) ต้องปรับปรุงการตรวจสอบฐานะความเสี่ยงของการถือครองเงินตราต่างประเทศ (currency exposure) ของบริษัทหลักๆ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินมีเสถียรภาพ โดยใช้เครื่องมือมหภาคอย่างระมัดระวังในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของธนาคารเพื่อการเจริญเติบโตไม่ให้ได้รับผลกระทบ

 

สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวดังนี้

รูปภาพที่ 9: ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจโลกกับเศรษฐกิจไทยและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

1-9

 

ในช่วงปี 2513-2540ในช่วงที่ประเทศไทยมีแรงงานในภาคเกษตรจำนวนมากที่พร้อมจะขยับเข้าสู่ภาคอุตสหกรรม ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมากจนทำให้การเพิ่มขึ้นของ FDI เข้าสู่ประเทศไทยเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า FDI ทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงโชติช่วงชัชวาลย์ (2523-2531) และในยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า (2531-2534) ความได้เปรียบของไทยในขณะนั้นทั้งเรื่องของแรงงานจำนวนมาก การขุดพบปิโตรเลียมในอ่าวไทย ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้าและน้ำเพื่อการผลิต ล้วนทำให้ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูง แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ปฏิรูปภาคการเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีพอจนนำมาสู่วิกฤติทางการเงินในปี 2540 ในช่วงเวลาดังกล่าวจีนได้เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น ในขณะที่โครงสร้างประชากรของไทยมีอัตราการเพิ่มน้อยมาก เข้าสู่การศึกษาภาคบังคับเพิ่มขึ้น แรงงานภาคเกษตรกรรมลดลง และเคลื่อนที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น ข้อได้เปรียบของไทยในด้านแรงงานเริ่มเป็นข้อจำกัดมากขึ้น กอปรกับช่วง 2540-2551 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก อาทิ วิกฤตต้มยำกุ้ง (2540) วิกฤต dotcom (2544) วิกฤต subprime (2551) เป็นต้น ทำให้ FDI ที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยเริ่มลดลง และในช่วงปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมรดกของการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เช่น หนี้ในระดับสูงของประเทศที่พัฒนาแล้ว นำมาซึ่งการเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจโลกและข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายทางการเงินการคลัง ทำให้ FDI ไหลเข้าสู่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ FDI โลกนั่นเอง และเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง FDI กับการเพิ่มขึ้นของ GDP ในแต่ละช่วงเวลา พบว่า บทบาทของ FDI ที่เคยมีสูงในอดีตและเป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย มีแนวโน้มลดบทบาทลงอย่างต่อเนื่อง ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1: GDP vsThailand FDI net inflows

1-10

ตารางที่ 2: ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย

 

GDP (%yoy)

X (%yoy)

Ip (%yoy)

Fx (THB/USD)

FDI (USDmn)

Short-term

<3

<0

<5

36-38

<5,000

Long-term

 2-4

 3-5

 5-7

Continue Depreciation

decline slightly

ที่มา: แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สวค.

 

จากตารางที่ 2 ในระยะสั้น (1-2 ปี)การลงทุนภาคเอกชนในประเทศจะเติบโตช้าลงจากข้อจำกัดด้านการปล่อยสินเชื่อภาคสถาบันการเงินตามภาวะการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ภาคการส่งออกขยายตัวต่ำจากเศรษฐกิจโลกและการปรับเปลี่ยนของห่วงโซ่อุปทานโลก อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากการที่รัฐบาลลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น ในขณะที่กำลังซื้อในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมยังคงขยายตัวในระดับต่ำทำให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะยาว (5-10 ปี)การบริหารจัดการเศรษฐกิจช่วงโตช้าของโลกทั้งนโยบายของประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของโลก ประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่ขาดแคลนปัจจัยแรงงาน ในขณะที่มีทุนส่วนเกิน ความต้องการทุนจากภายนอกลดลง ทำให้มีภูมิต้านทานที่เพียงพอที่ไม่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินได้ จากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอก/ภายในที่ไม่เอื้อทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในประเทศไทยจะไม่เพิ่มเหมือนยุคที่ประเทศไทยมีแรงงานและที่ดินเหลือเฟือ ในขณะที่เสถียรภาพภายนอกดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุล เนื่องจากการการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ดุลการคลังจะขาดดุลต่อเนื่อง หนี้สาธารณะต่อ GDP จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เงินสำรองระหว่างประเทศจะลดลง สำหรับภาคการเงินอัตราดอกเบี้ยจะผ่านจุดต่ำสุดเข้าสู่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จากสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินต่ำลง เศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ในการดึงดูดทุนต่างประเทศ (FDI) รูปแบบใหม่ในอนาคต