Home -> New Update

เรียนท่านผู้อ่านที่ติดตาม (หรือเพิ่งเปิดมาอ่าน) ตอนนี้จะเป็นตอนจบของ มินิซีรีย์ “เศรษฐกิจฮิตเลอร์” เสียที หลังจากเก็บค้างไว้นาน จนผู้อ่านหลายท่านลืมไปหมดแล้ว…ตอนนี้ จะเฉลย ถึงที่ว่าฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจได้อย่างไร ทั้งๆที่มีทหารที่กุมอำนาจไม่ชอบและทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หลายรอบ จนถึง ความผิดพลาดใดทำให้อาณาจักรของฮิตเลอร์ที่ยิ่งใหญ่ต้องล่มสลาย และต้องตายในบังเกอร์แคบๆ……..

Hitler-Final

เล่าชีวิตฮิตเลอร์ให้ฟังสักนิดนึงนะครับ ประวัติแกเหมือนพระเอกหนังในนิยายเหลือเกิน กล่าวคือ วัยหนุ่มเป็นศิลปินที่รักและภูมิใจในความเป็นเชื้อชาติและประวัติศาสตร์เยอรมันเหลือเกิน (ฮิตเลอร์เกิดในออสเตรียก็จริง แต่แกถือว่าเคยอยู่ในจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน) เลยไปเข้าร่วมกับกองทัพทักเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในตำแหน่งเสี่ยงตายอันดับต้นๆ คือ “คนเดินสาร” … หลายคนอ่านอาจจะงงว่าอันตรายยังไง? อันตรายที่สุดจริงๆนะครับ เพราะ (1) ทางทหารถ้าให้เลือกยิงก็ยิงคนส่งสารก่อนแหละครับ หากคนส่งสารตายการสื่อสารผิดพลาด กองทัพก็วุ่นวาย (2) คนอื่นอยู่ในที่กำบังปลอดภัย แต่คนเดินสารต้องวิ่งออกจากที่กำบัง โล่งโจ่ง เป็นที่สุด …. แต่ฮิตเลอร์ก็รอดตายมาได้ครับ แม้จะบาดเจ็บสาหัสอยู่หลายครั้งจนได้เหรียญกล้าหาญของเยอรมัน ชื่อ “กางเขนเหล็ก”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันพ่ายแพ้ยับเยิน คนตกงานบานตะเกียง เงินเฟ้อสูงมากจนเงินไม่มีค่า คนจนเลือกมาเผาให้ความอบอุ่นแทนฟืน ลูกเล็กเด็กแดงก็เอาแบงก์มาต่อแทนตัวต่อเลโก้ ศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจก็หดหาย ไม่มีเงินจ่ายตังค์ค่าปรับ ฝรั่งเศสก็ยึดดินแดนเอาไปแทนค่าปรับเสียดื้อๆ แถมเขตที่ยึดที่ชื่อ “ไรน์แลนด์” ก็เป็นเขตอุตสาหกรรม เหมือนมาบตะพุด สะอีก…แล้วแบบนี้เศรษฐกิจจะกระเตื้องได้ไง?

ฮิตเลอร์เองก็ตกงานครับ เลยต้องแบกหัวใจห่อเหี่ยวที่แพ้สงครามไปหานายเก่าที่เป็นทหาร เจ้านายให้งานมางานนึงคือแฝงตัวไปฟังพรรคการเมืองใหม่ ชื่อ “พรรคสังคมนิยม (NSDAP)” ที่ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น NAZI

ฮิตเลอร์ไปแฝงตัวแอบฟัง แต่ฟังไปฟังมาดัน “อิน” ในอุดมการณ์พรรค แล้วเผลอแสดงความคิดเห็นที่เฉียบแหลมผนวกกับลีลาการพูดที่เร้าใจ ไปๆมาๆเลยกลายเป็นสมาชิกพรรคหมายเลข “555” ตอนแรกเป็นคนปาฐกถาปลุกใจ แล้วก้าวไปถึง โฆษกพรรค และสุดท้ายกลายเป็นหัวหน้าพรรค

แต่ปัญหาตอนนั้นคือ แกอินน์ และย่ามใจไปหน่อย ครับ…ปี 1924 ฮิตเลอร์ เลยวางแผนปฏิวัติโดยบุกไปจับแกนนำรัฐบาลที่ชุมนุมกันอยู่ในโรงเบียร์เป็นตัวประกัน (สมเป็นประเทศแห่งเบียร์จริงๆ) แต่ทหารไม่เล่นด้วย ยิงสมาชิกพรรคหงายท้องไปตามๆกัน ฮิตเลอร์เลยต้องระเห็จเข้าไปนอนเล่นในเรือนจำฐานล้มล้างรัฐบาล

แต่แกไม่นอนเปล่าเผาเวลาฟรีๆนะครับ ฮิตเลอร์ใช้เวลาในคุกเขียนหนังสือปลุกใจชื่อ “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” ซึ่งปรากฏว่าขายดีถล่มทลาย จนต้องพิมพ์ซ้ำสี่ซ้าห้ารอบ ยอดขายสุดท้ายอยู่ที่ล้านกว่าเล่ม…พอออกจากคุกมา ฮิตเลอร์ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคสังคมนิยม ก็ใช้หนังสือนี่แหละครับเป็นส่วนนึงในการหาเสียง ร่วมกับ ตั้งนักโฆษณาระดับ ป.เอก ชื่อ ดร.เกิบเบิลล์ เป็นโฆษกพรรค … กระนั้นการกลับมาหนแรกของ ฮิตเลอร์ก็ยังไม่เปรี้ยงปร้างนัก เข้ามานั่งในสภาด้วยเสียงฉิวเฉียด ครั้งแรก ที่ 2.6% … ใช่ครับ 2.6% มีที่นั่งในสภา 12 คนจากเกือบๆ ทั้งหมด 600 คน

แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สุดขีดบวกกับวาทะฝีปากกล้า ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาฮิตเลอร์ขยับจาก 2.6% เป็น 18.3% และกลายเป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดใน 2 ปีถัดมา 37.3% …แต่ทว่า กลุ่มจอมพล และนายพล ไม่ชอบขี้หน้า ฮิตเลอร์ ครับ (อาจเป็นได้หลายสาเหตุ เช่น (1) ฮิตเลอร์เป็นทหารชั้นประทวน ไม่ใช่ระดับนายทหาร (2) ฮิตเลอร์สุดโต่งไปไม่เห็นหัวจอมพล นายพล (3) ฮิตเลอร์เคยก่อกบฏ) ในปีนั้น (1932) หลังฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้ง จึงได้มีการล้อบบี้ไปมาจนไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ สภาเยอรมันต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีก 2 รอบ โดยครั้งสุดท้ายฮิตเลอร์ชนะขาด 43.9% มากที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา จึงต้องยอมให้ตั้งรัฐบาล และให้ฮิตเลอร์เป็นนายกฯ

แต่ลึกๆ ก็มีฮึ่มๆ กันแหละครับ…เหล่าจอมพล รวมถึงพลเรือนฝ่ายไม่เอาฮิตเลอร์ ไม่ยอมให้ฮิตเลอร์ทำอะไรสะดวกแน่ และถ้าฮิตเลอร์แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ก็เตรียมการปฏิวัติเพื่อซ้ำอยู่แล้ว…ฮิตเลอร์ก็รู้ตัวครับ แต่จะเล่นงานก็ทำอะไรลำบากเพราะจอมพลเหล่านี้คุมกำลังอยู่ จะลอบสังหารก็ยากเพราะแต่ละคนก็มีบอดี้การ์ดรักษาความปลอดภัยเพียบ จะไม่ทำอะไรก็ไม่ได้เพราะถูกขัดแข้งขาอยู่ตลอด…แล้วฮิตเลอร์ทำยังไง?

ฮิตเลอร์ฉวยจังหวะที่ศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของเหล่าจอมพล คือ จอมพลฮินเดนบูร์ก รัฐบุรุษของประเทศ แก่ตายตามอายุขัย ปฏิบัติการณ์เลือนลั่นสายฟ้าแลบ …. ฮิตเลอร์มองว่าคนที่สนับสนุนตนนั้นมีมากกว่า กระจายทุกหน่วยงาน และ ที่สำคัญ “บ้า” กว่ามาก เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้กุมกำลังเท่านั้น ฮิตเลอร์จึงวางแผนและจัดให้มีเหตุการณ์ “คืนมีดยาว (Night of the Long Knives)” ขึ้น … คือ ให้คนของตัวเองลอบสังหารฝ่ายตรงข้ามระดับรองที่คุมกำลังแต่มีการคุ้มกันต่ำ เช่น แทนที่จะฆ่านายพล 1 คน ก็ให้ฆ่าผู้พัน 5 คนแทน…คืนนั้นคืนเดียว “คนของฮิตเลอร์สังหารฝ่ายตรงข้ามไปเกือบๆ 200 ศพ

ผลของ “คืนมีดยาว” ส่งผลให้ฝั่งตรงข้าม “ช้อก” ในขณะเดียวกันเหล่าจอมพลก็ขาดแขนขา ส่วนฮิตเลอร์เองก็อาศัยจังหวะที่มีตำแหน่งว่าง จัดวางคนของตนเข้าไปกุมกำลังแทน … เกม พลิกกลับแล้วครับ…ฮิตเลอร์ยัดข้อหาฝั่งจอมพลทีละคนว่า “วางแผนจะล้มล้าง” บ้างหละ บางคนไม่มีหลักฐานก็นี่เลยครับ ข้อหา “เป็นเกย์” ซึ่งตามกฎหมายเยอรมันตอนนั้น ต้องถูกจับไปค่ายกักกันทำงานหนัก

หลังจากนั้นฮิตเลอร์ก็กุมอำนาจสบาย และก็ใช้ความมหัศจรรย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้สำเร็จ ด้วยวิธีที่เขียนไว้ในตอนที่ 2 แหละครับ (ครับยังไม่ได้อ่านก็อ่านได้ในเว็บไซต์นี้นะครับ อ่านตั้งแต่ตอนที่ 1 เลยยิ่งดีครับ)

แต่ฮิตเลอร์ก็ผิดพลาดจนต้องล่มสลาย !! …

เขาได้ดีแล้วลืมตัว เสพย์ติดอำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ปนเปรอความสุขตนเอง?

เปล่าเลยครับ ฮิตเลอร์ ใช้ชีวิตสมถะสุดๆ อยู่บ้านหลังเล็ก ห้องนอนเล็ก นอนเตียงสนามแบบทหารเกณฑ์ กินอาหารมังสะวิรัติง่ายๆ ไม่สะสมเฟอร์นิเจอร์ เหล้าไม่กิน บุหรี่ก็ไม่สูบ … แต่ที่ผิดพลาดโดยเฉพาะในมุมเศรษฐกิจการเมือง เป็นแบบนี้ครับ

หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ฮิตเลอร์เลือกการลงทุนของรัฐ ที่มีความเสี่ยงสูงมาก แต่ได้กลับมาซึ่งผลตอบแทนมหาศาล ทั้งตัวเงิน และศักดิ์ศรีของคนในชาติ … ใช่แล้วครับ การลงทุนในกิจการสงคราม … ซึ่งการจะลงทุนแนวนี้ฮิตเลอร์ต้องเตรียมจัดการความเสี่ยงอย่างน้อยก็ 2 ด้าน (1) เสี่ยงที่จะแพ้ และ (2) เสี่ยงที่จะยืดเยื้อ แล้วต้องปิดประเทศ

ทางการสงครามฮิตเลอร์ค่อนข้างมั่นใจว่ากับประเทศเล็กประเทศน้อย หรือแม้แต่ฝรั่งเศสที่สร้างความเจ็บแค้นให้เยอรมันเองนั้น มีเทคโนโลยี กำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ ห่างชั้นกับกองทัพของเขาที่แอบสร้างมาลับๆอยู่มาก … แต่ด้านเศรษฐกิจที่ต้องปิดประเทศนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ตรงกับความคิดของ “ชาค์ท” รมว.เศรษฐกิจ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่แก้เศรษฐกิจได้อย่างปาฏิหาริย์คนนั้น (อ่านได้ในตอน 2)

ฮิตเลอร์จึงปลด “ชาค์ท” แล้วตั้งจอมพล “เกอริง” เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทน … เกอริงไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์ ไม่เคยเรียน MBA ไม่เคยทำธุรกิจ และไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ … เกอริงรู้เพียงแต่ว่าต้องเน้น “เศรษฐกิจพึ่งตนเอง” เพราะจะปิดประเทศเพื่อเตรียมลุยกับต่างประเทศ เยอรมันจึงเปลี่ยนแนวจากนำเข้าเพื่อแปรรูปแล้วส่งออก เป็นทำเองทุกอย่าง

ผลก็คือ “ไม่มีประสิทธิภาพในการผลิต” ก็คนไม่ชำนาญแต่ต้องทำจะไปสู่ “แบ่งงานกันทำตามความถนัด” ได้อย่างไร มิหนำซ้ำเยอรมันเอง แม้จะมี “เหล็ก” และแร่อื่นๆ ที่เป็นทรัพยากรหลักในอุตสาหกรรม แต่เยอรมันไม่มี “น้ำมัน” ไม่มี “ก๊าซ” และผลิตพืชผลทางการ “เกษตร” ได้น้อย

เมื่อไม่มีทรัพยากร เกอริงกับฮิตเลอร์ก็แก้ปัญหาเศรษฐกิจง่ายๆด้วยหลักการทางทหารที่ว่า “ไม่มีก็ยึด” เยอรมันจึงบุกยุโรปเหนือ กับแอฟริกา เพื่อน้ำมัน บุกฝรั่งเศสเพื่อเกษตร บุก บุก และบุกไปทั่ว … แม้ครั้งแรกๆ เช่น ที่ยืดไรน์แลนด์คืนนั้น จะสำเร็จด้วยดี คือ สูญเสียน้อยทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเวลา … แต่ครั้งหลังๆ กลับไม่ง่ายเช่นนั้น สงครามยืดยื้อขึ้นมาก กำลังพลและยุทโธปกรณ์ก็สูญเสียมหาศาล การลงทุนที่ทุ่มลงไปแทบจะสูญเปล่า … เล่าขยายความคือฮิตเลอร์เร่งปิดศึกกับอังกฤษ ระดมกำลังถล่มลอนดอน แต่ไม่สำเร็จ ทีนี้เยอรมันขาดพลังงาน คือ ก๊าซ กับน้ำมัน อุตสาหกรรมเดินหน้าไม่ได้ จึงต้องเปิดศึกที่ แอฟริกาเหนือ กับอาหรับ เพื่อชิงน้ำมัน แต่ก็ยังเดินหน้าลำบาก “จึงเป็นเหตุให้ต้องรบกับโซเวียต” เพื่อชิงทรัพยากร … เมื่อฮิตเลอร์เปิดศึกหลายทาง ในระยะยาวก็นำไปสู่การพ่ายแพ้สงครามอย่างหมดรูป แม้แต่ชีวิตตนเองก็ต้องจบลงในพื้นที่เล็กๆแคบๆ ชื่อ “ฟูห์เรอร์บังเกอร์” ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว … โดยสรุปก็คือฮิตเลอร์ และอาณาจักรไรช์ที่ตนเองสร้างมานั้นต้องล่มสลายลงเพราะเลือกยุทธศาสตร์การลงทุนผิด คือ “เลือกลงทุนในสงคราม” เพราะให้ทั้งความมั่งคั่ง และศักดิ์ศรี

ก็เป็นอันจบลงของ มินิซีรีย์ “เศรษฐกิจฮิตเลอร์” พร้อมเรื่องราวให้เรียนรู้ศึกษา ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา รัฐศาสตร์ และอีกหลากหลายศาสตร์ ทั้งในแง่ดี และแง่เสีย คละเคล้ากันไป ให้ไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจ ได้ขบคิดเป็นบทเรียนกันต่อไป ……. ขอขอบคุณผู้อ่านอีกครั้งที่ติดตามกัน 

 

เรื่อง: พิเศษพร วศวงศ์ ภาพ: ภัทร สริยาภรณ์