“ ถ้าความสูญเสียของนาข้าวทั่วไปมี 8 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ชลประทาน 1.5 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายที่วัดเป็นตัวเงินเป็นเท่าไร?” บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่ามูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งต่อปีหากนำไปใช้ลงทุนพัฒนาระบบชลประทานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวน่าจะดีกว่าต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารายปี จริงหรือ? โดยวิเคราะห์จากการแปลงค่าปริมาณการผลิตต่อไร่ให้เป็นตัวเงินในการจำหน่ายข้าว ซึ่งผลการคำนวณพบว่า จะเสียหายรวม 3 หมื่น 3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของกรณีที่ไม่มีภัยแล้ง..
จากบทสัมภาษณ์ท่านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล) ที่ลงในหนังสือพิมพ์ (วันที่ 3 สิงหาคม 2558)[1] โดยให้ข้อมูลว่า“ที่ทำนาประเทศไทยมี 63 ล้านไร่ เพิ่งปลูกไป 8 ล้านไร่ แล้วเป็นนาชลประทาน 4.5 ล้านไร่” จากภาวะภัยแล้งปีนี้คาดว่า “นาชลประทานจะเสียหายประมาณ 1.5 ล้านไร่ จากข้อมูลที่อ้างอิงดังกล่าวสรุปได้ว่า นาทั่วไป 8 ล้านไร่ ส่วนนาในพื้นที่ชลประทานเสียหาย 1.5 ล้านไร่ หรือก็คือ นาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจนปลูกข้าวไม่ได้มีอยู่ทั้งสิ้น 1.5 ล้านไร่
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์จากข้อมูลดังกล่าว (ข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมีทั้งสิ้น 1.5 ล้านไร่) ว่าจะส่งผลเสียต่อชาวนาโดยรวมตีมูลค่าเป็นเงินเท่าไร? โดยยังไม่รวมถึงโรงสี กับผู้ค้าข้าวว่าถ้าไม่มีข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารจะสูญเสียรายได้แค่ไหน? จะสูญเสียไม่มากมายอะไร หรือว่า เริ่มจะรุนแรงอย่างที่นายกสมาคมโรงสีให้ข่าว[2] ว่า “เริ่มปิดไป 100 ราย เพราะไม่มีข้าวเปลือกมาสี”
การหาคำตอบในที่นี้ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกว่า Linear Programming ที่พัฒนาใช้กับอุตสาหกรรมข้าว[3]โดยผู้เขียนเอง มาวิเคราะห์หาคำตอบ แต่มีข้อแม้ว่า “ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดของแบบจำลองนี้” ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ (1) เป็นแบบจำลองที่ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนา และ (2) เป็นเครื่องมือที่ซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งคนทั่วไปอาจจะสนใจผลที่ได้จากแบบจำลองมากกว่าสนใจเรียนรู้แบบจำลอง แต่ในบทวิเคราะห์นี้ได้ใช้ข้อมูลจริง ณ ปี 2557 โดยเก็บรายละเอียด ทั้ง เรื่อง ปุ๋ย ยา ที่ดิน เครื่องจักร เมล็ดพันธ์ ขนาดโรงสี กำลังผลิต ฯลฯ มาใช้ในการคำนวณ…สรุปผลโดยสังเขปได้ดังนี้
ถ้าตั้งข้อสมมติ (Assumption) คือ นาข้าวทั่วไปสูญเสีย 8 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ชลประทาน 1.5 ล้านไร่ ผลการคำนวณพบว่า “จะสูญเสียรายได้รวม 3 หมื่น 3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของกรณีที่ไม่มีภัยแล้ง แบ่งเป็น ความสูญเสียของชาวนา 2.6 หมื่นล้านบาท โรงสี 4 พันล้านบาท และผู้ค้าอีก 3.3 พันล้านบาท”
จะเห็นได้ว่า แล้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อชาวนาเท่านั้น แต่โรงสี และผู้ค้า ก็ได้รับความเดือดร้อนด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นนัยยะเชิงนโยบายที่รัฐบาลควรเร่งรัดให้เกิดผลในทางปฎิบัติมากกว่าการจ่ายเงินชดเชย คือ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาส หรือ เร่งปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการส่งเสริมการผลิตด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า ฯลฯ ไปจนถึง “การลงทุนด้านแหล่งน้ำ” ตั้งแต่การวางแผน บริหารจัดการ สร้างฝายอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนสร้างเขื่อน เพื่อรับมือกับภัยแล้งและน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว แทนที่จะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเขยความเสียหายหลายพัน/หมื่นล้านที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติประจำปี
ตัวเลขความสูญเสียหลักหมื่นล้านนี้ สูงคุ้มค่าพอหรือยังที่เราจะต้องลงทุน สร้างอ่างเก็บน้ำ เขื่อน และบริหารการจัดการน้ำ? แต่สำหรับบทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า “ถ้า แล้งทีต้องเสียเป็นหลัก หมื่นล้าน เอาเงินหมื่นล้านไปลงทุนระยะยาวไม่ดีกว่าหรือ ? ไม่กี่สิบปีก็คืนทุนแล้ว”
[1] นายพิเศษพร วศวงศ์, 2558
[2] คุณมานัส กิจประเสริฐ ให้สัมภาษณ์ 17 มิถุนายน 2558, ประชาชาติธุรกิจ และมติชน
[3] ไทยรัฐ ประชาชาติ มติชน ผู้จัดการ TPBS ฯลฯ