Home -> New Update

คาดว่าหลายคนคงยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “ดิจิทัล นอแมด” (Digital Nomad) ก่อนอื่นจึงขอให้คำนิยามเพื่อที่เราจะได้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ดิจิทัล นอแมด คือ กลุ่มคนที่ทำงานโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก และชอบเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงาน ยกตัวอย่างทำงานที่บ้านบ้าง ทำงานที่ร้านกาแฟบ้าง หรือสถานที่สาธารณะต่างๆที่มีการจัดสรร WIFI ไว้บริการ

Nomad-Figure-01

มีดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่สำหรับกลุ่มคนทำงานอิสระอยู่ตัวหนึ่งซึ่งหลายๆ คนคงเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง เป็นดัชนีชี้วัดของเว็บไซต์ Nomadlist ได้จัดอันดับคะแนนความเป็นเมืองน่าอยู่ของกรุงเทพฯ ที่มีความน่าอยู่เป็นอันดับที่ 2 รองจากเมืองบูดาเปสท์ ประเทศฮังการีที่เป็นอันดับ 1 และเชียงใหม่เป็นอันดับที่ 5 จากเมืองที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้นจำนวน 424 เมือง (ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2558 ทั้งนี้ดัชนีชี้วัดมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา) โดยการเปรียบเทียบระหว่างรูปภาพที่ 2 กับรูปภาพที่ 3 พบว่า ที่เชียงใหม่แพ้กรุงเทพฯ ปัจจัยที่เด่นชัดที่สุดตามดัชนีนี้ คือ เครื่องปรับอากาศ พื้นที่บริการ WIFI ฟรี และชีวิตกลางคืน อย่างไรก็ตามด้านสถานที่ทำงานนั้นเชียงใหม่ชนะกรุงเทพฯ ขาดลอย 

Nomad-Figure-02

Nomad-Figure-03

คำถามต่อมา คือ แล้วพวกเขาเหล่านั้น (กลุ่มคนทำงานอิสระ) นิยมเดินทางมาทำงานที่เชียงใหม่เพราะอะไร อนึ่ง จากการได้เข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ และมีโอกาสเดินทางลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในเชียงใหม่ จึงสามารถประมวลได้ว่า ปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ (1) ง่าย (2) ถูก และ (3) สบาย

ปัจจัยแรก “ง่าย” ในที่นี้หมายถึง ง่ายต่อการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแม้ว่าจะเป็นชาวต่างชาติก็ตาม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ง่าย ง่ายแรก คือ ไทยมีมือถือระบบเติมเงินที่สะดวกสบาย ไม่มีขั้นตอนการลงทะเบียนอะไรที่ยุ่งยาก สามารถเลือกซื้อซิมและเลือกแพ็คเกจที่ต้องการได้ทันทีตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป อนึ่ง กลุ่มดิจิทัล นอแมดเองได้ใช้บริการเครือข่ายที่มีจุดบริการ WIFI สูงสุดในเชียงใหม่ คือ TRUE Move ตามข้อมูลจุดบริการ WIFI (อ้างอิงจาก http://cmwifimap.thatgrumguy.com/) ต่อมาง่ายที่สอง คือ ในเชียงใหม่มีร้านกาแฟอยู่ทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่บริเวณคูเมือง ถนนนิมมานเหมินทร์ หรือแม้แต่นอกเมืองเองก็ตาม โดยร้านกาแฟแต่ละร้านจะมี WIFI บริการลูกค้าเสมอ 

ปัจจัยต่อมา คือ “ถูก” สั้นๆ ได้ใจความ เชียงใหม่นั้นมีค่าครองชีพที่ถูกมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ลองเทียบดูค่าใช้จ่ายต่อเดือนระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ พบว่ากรุงเทพฯ แพงกว่าเชียงใหม่เกือบ 2 เท่า (กรุงเทพ 610 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน กับเชียงใหม่ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน) ซึ่งค่าอาหารตกอยู่ที่ 1-5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อมื้อ ค่าเบียร์ขวด 750 มิลลิลิตร ราคา 2-3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ราคากาแฟต่อแก้วสำหรับร้านเฟรนไชส์อยู่ที่ 90-200 บาท หรือประมาณ 3-6 ดอลลาร์สหรัฐฯ และร้านกาแฟอื่นๆ ราคาจะอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของราคากาแฟร้านเฟรนไชส์

ปัจจัยสุดท้าย คือ “สบาย” ด้วยบรรยากาศแบบ  เนิบๆ ช้าๆ ของเชียงใหม่ทำให้เหล่าดิจิทัล นอแมดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าระบบขนส่งมวลชนจะยังเป็นจุดอ่อนของเชียงใหม่ แต่สถานที่ต่างๆ อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน สะดวกต่อการพบปะเพื่อประชุมงานและทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ ได้ง่าย โดยสถานที่พบปะของเหล่าดิจิทัล นอแมด มักเป็นพื้นที่โคเวิร์คกิ้ง สเปซ ร้านกาแฟ บาร์ และร้านอาหาร

ท้ายสุดแล้วเชียงใหม่จะได้อะไรจากกลุ่มดิจิทัล นอแมด แน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้มีรายได้สูง ส่งผลต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นของเชียงใหม่ให้ดีขึ้น กระจายรายได้สู่ชุมชน มีผู้ประกอบการบริการหน้าใหม่ที่เข้ามาประกอบกิจการเพื่อรองรับกลุ่มบุคคลเหล่านี้มากขึ้น ฉะนั้น การดำเนินนโยบาย ในการพัฒนาหัวเมืองทางเหนือแห่งนี้ จึงควรให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เพื่อส่งเสริมธุรกิจที่สามารถเป็นแหล่งกระตุ้นให้เกิดรายได้/รักษาแหล่งรายได้ที่สอดคล้องกับสภาวะของท้องถิ่นให้คงไว้ต่อไปในอนาคต