เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคระบาดมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมากตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น โรคซาร์ส (SARS) ที่ระบาดไปกว่า 24 ประเทศ ในปี 2546 หรือโรคไข้หวัดนกชนิด H5N1 ในปี 2550 ที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนัก และในกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้อย่างไข้หวัด MERS (Middle East Respiratory Syndrome) หรืออีกชื่อ คือ ไข้หวัดอูฐ (Camel Flu) ในเกาหลีใต้ได้คร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้ไปแล้ว 23 ราย[1] (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2558) โดยผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดอูฐรายแรกของเกาหลีใต้เป็นผู้หญิงวัย 58 ปี และรายที่สองเป็นคุณตาวัย 71 ปี[2]
จากการแพร่ระบาดของไข้หวัด MERS ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องใช้มาตรการกักตัวผู้ป่วยกว่า 1,300 คน เพื่อเฝ้าดูอาการและจำกัดบริเวณแพร่ระบาด นอกจากนั้นยังสั่งหยุดโรงเรียนกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้[3] ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวยกเลิกเที่ยวบินมายังเกาหลีใต้แล้วกว่า 100,000 ราย ซึ่งได้คาดการณ์ไว้ว่าเกาหลีใต้จะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 900 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,079 ล้านบาท
สำหรับกรณีประเทศไทย ผู้เขียนได้ใช้แบบจำลองการท่องเที่ยว ของมูลนิธิ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) ซึ่งใช้ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวปี 2556 ภายใต้ข้อสมมติ (Assumption) ที่ว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ รัฐบาลไทยอาจจำเป็นต้องมีมาตรการจำกัดการเดินทางจากชาติต่างๆซึ่งมีความเสี่ยง เช่น เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการท่องเที่ยวของไทย ทั้งในภาคการบริการและภาคการผลิต โดยมีข้อสมมติว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวในปี 2556 ชี้ให้เห็นว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 26,546,725 คน เมื่อนำมาประมวลผ่านแบบจำลอง พบว่า ก่อให้เกิดรายได้ทั้งสิ้น 455,672 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาคการบริการ 231,868 ล้านบาท และภาคการบริโภคสินค้า 223,804 ล้านบาท ดังรูปภาพที่ 1
หากไทยใช้มาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยว 1,297,200 คน คิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังไทยทั้งหมด และ 630,243 คน คิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังไทยทั้งหมด ตามลำดับ นั่นหมายความว่าการท่องเที่ยวของไทยจะสูญเสียนักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด จะส่งผลกระทบดังที่ได้แสดงในรูปภาพที่ 2 คือ ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงทั้งสิ้น 32,857 ล้านบาท คงเหลือ 422,816 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาคการบริการสูญเสียรายได้ 16,719 ล้านบาท คงเหลือ 215,149 ล้านบาท และภาคการบริโภคสินค้าสูญเสียรายได้ 16,138 ล้านบาท คงเหลือ 207,667 ล้านบาท
สำหรับในภาคบริการ กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดคือ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งสูญเสียรายได้ถึง 9,609 ล้านบาท รองลงมา คือ กลุ่มผู้ประกอบการสถานบันเทิงยามค่ำคืนจะสูญเสียรายได้ 6,303 ล้านบาท และผู้ประกอบการท่องเที่ยวตามชายหาดจะสูญเสียรายได้ 5,024 ล้านบาท ดังแสดงในรูปภาพที่ 3