Home -> New Update

“ที่ผมอ่านแล้วหงุดหงิด ก็คือพวกที่อ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญฮิตเลอร์ แต่กลับเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ
ฮิตเลอร์ไม่ถ่องแท้ โดยเข้าใจว่า “เขาแก้ด้วยการทำสงคราม” ไปทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด และน่าเสียดายในความคิดแบบนั้น เพราะอาจจะ “ทำให้เราพลาดในการศึกษาเคล็ดลับการแก้เศรษฐกิจแบบปาฏิหาริย์” ของฮิตเลอร์ไปโดยปริยาย

Hitler-01

 

หลังจากที่ผมเขียนเศรษฐกิจฮิตเลอร์ ตอนที่ 1 จบไป กระแสฮิตเลอร์ก็ฮิตขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ

 มีนักวิชาการและพวกที่อ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญฮิตเลอร์หลายท่านได้อภิปรายให้ความเห็นเกี่ยวกับฮิตเลอร์ไว้หลากหลาย แต่การ การเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของฮิตเลอร์ยังแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เข้าใจว่า “เขาแก้ด้วยการทำสงคราม” ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด และน่าเสียดายในความคิดแบบนั้น เพราะนั่น “ทำให้เราพลาดที่จะศึกษาเคล็ดลับการแก้เศรษฐกิจแบบปาฏิหาริย์” ของฮิตเลอร์ไปโดยปริยาย

ผมขอเรียนท่านผู้อ่านตามตรงนะครับว่าผมเขียนเรื่องนี้ เพราะสนใจส่วนตัว และเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ของฮิตเลอร์นั้นน่าสนใจไม่น้อย หลายส่วนเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจศึกษาลอกเลียน และหลายอย่างก็ชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่อง ข้อเสีย ที่ควรนำมาเป็นบทเรียน ผนวกกับความเข้าใจผิดเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของฮิตเลอร์ ได้แพร่หลายออกไปมาก ผมจึงสนใจที่จะให้มุมมองอีกด้านเกี่ยวกับฮิตเลอร์โดยเฉพาะมุมมองด้าน “เคล็ดลับปาฏิหาริย์เศรษฐกิจ”

คงจำกันได้ในตอนแรกนะครับว่า ก่อนฮิตเลอร์เข้าบริหารประเทศนั้น เศรษฐกิจเยอรมัน  เข้าข่ายล่มสลาย

ปัญหาเศรษฐกิจแรกที่เยอรมันต้องเผชิญก็คือ เศรษฐกิจย่ำแย่ถึงขีดสุด การว่างงานสูงถึง ร้อยละ 30 คนไม่มีปัญญาบริโภคสินค้า ดังนั้นผู้ผลิตก็ไม่รู้จะผลิตมาขายใคร เมื่อต้องลดการผลิต ก็ต้องไล่คนงานออก ยิ่งไล่คนงานออก คนก็ยิ่งตกงาน เมื่อตกงานก็ไม่มีปัญญาจะบริโภคสินค้า ปัญหาก็วนกลับเป็นวัฏจักรอันชั่วร้าย (vicious cycle) ที่นับวันจะยิ่งหนักหนาซ้ำเติมคนเยอรมัน

ปัญหาเศรษฐกิจช่วงนั้นเป็นไฮไลต์ของนักเศรษฐศาสตร์เลยนะครับ คือ เป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากแนวคิดดั้งเดิมแบบคลาสสิก (คลาสสิก ก็แปลว่าโบราณอยู่แล้ว) ที่ใช้เรียนในหนังสือเศรษฐศาสตร์จุลภาคว่า จงอยู่เฉยๆ เดี๋ยว “มือที่มองไม่เห็น” (invisible hand) มันก็จะทำงานเอง  มาเป็นที่ใช้เรียนในเศรษฐศาสตร์มหภาคว่า “ขืนรอมือที่มองไม่เห็นก็ตายพอดี” 

นักเศรษฐศาสตร์ยุคโบราณ นำทีมโดย อดัม สมิธ เชื่อในหลักธรรมชาติศาสตร์ว่า “ธรรมชาติจะรักษาสมดุลของมันเอง” เศรษฐกิจก็เหมือนกันอยู่เฉยๆ มันจะเข้าจุดที่ดีเอง เช่น หากคุณตั้งราคาแพงไป จะไม่มีคนซื้อ ราคามันก็จะลดลงเอง  ดังนั้น “หน้าที่ของรัฐคือ อย่าไปยุ่ง หรือแทรกแซงกลไกตลาด ” โดยควรทำเพียง (1) รักษากฎเกณฑ์ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด และ (2) ผลิตสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคนผลิต ที่เรียกว่า สินค้าสาธารณะ (Public good) เช่น ไฟฟ้า ประปา เป็นพอ

แต่ว่าในที่สุดจะจบแค่ “หน้าที่ของรัฐ คือ อย่าเข้าไปแทรกแซง”

พอเกิดเศรษฐกิจตกต่ำ และทำท่าว่าจะไม่เข้าสมดุลง่ายๆ นักเศรษฐศาสตร์ และนักนโยบายชาวอังกฤษ นาม จอห์น เคย์นส จึงสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่ว่า “ในเมื่อเอกชนแก้เองไม่ได้ เครื่องมือสุดท้ายทางเศรษฐกิจก็คือรัฐ รัฐต้องจ้างงาน เอกชนจะจ้างคน การบริโภคจะกลับมา เศรษฐกิจจะกลับมา”

โดย สรุป  รัฐ ที่เราเสียภาษีให้ จึงมีหน้าที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะการปฏิรูป ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งก็คือ สินค้าสาธารณะ รวมถึง การแก้กฎเกณฑ์กฎระเบียบการแข่งขันในตลาดด้วย

ทฤษฎีของ เคย์นส  ได้รับการตอบรับอย่างมาก ช่วงทศวรรษ ที่ 1930 ตอนเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทั้ง จาก รูสเวลท์ ที่สหรัฐฯ แมคโดนัลด์/แชมเบอร์เลน ที่ อังกฤษ และ ท่านฮิตเลอร์ที่เยอรมัน

รูสเวลท์ เห็นปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เลยตัดสินใจทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น การสร้างเขื่อน และสร้างถนน เพื่อสร้างงาน ทำให้การบริโภคกลับมา เศรษฐกิจก็ดีขึ้น จนกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ซึ่งอังกฤษก็ทำแบบเดียวกัน ร่วมกับการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เศรษฐกิจเลยกลับมาดีได้ แต่การนี้ก็ต้องแลกกับอะไรบางอย่าง  คือ งบประมาณไม่ได้มาอย่างง่ายนัก ถ้าจะสร้างเขื่อน สร้างถนน  ก็ต้องไปลดบางอย่าง ซึ่งทั้ง รูสเวลท์ และ แชมเบอร์เลน เลือกลดอย่างเดียวกัน  คือ “งบทหาร” เลยเป็นเหตุให้ รูสเวลท์ มีปัญหากระทบกระทั่งกับ แมค อาร์เธอร์ ส่วน แชมเบอร์เลน ก็มีปัญหากับ เชอร์ชิล

แต่ฮิตเลอร์เหนือกว่านั้น ….

เมื่อฮิตเลอร์เป็นนายกฯ (ควบประธานาธิบดี) ก็ตั้ง อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ นามจาลมาร์ ชาคท์ (เยอรมันเขียน Hjalmar Schacht) เป็น รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

Hitler-02

 

ทันทีที่ท่านขึ้นเป็นรัฐมนตรี และได้ไฟเขียวจากท่านผู้นำที่ได้อำนาจเต็ม แบบไม่มีผู้โต้แย้ง   ก็ผลักดันทฤษฎีเคย์นส เพื่อแก้เศรษฐกิจทันที

สมัยฮิตเลอร์มีนโยบายจ้างงานออกมา  ทั้งสร้างทางด่วนออโต้บาห์น สร้างเขื่อน สร้างถนน สร้างเมือง ผลิตรถ เครื่องบิน จนถึงสันทนาการ ประเภทคอนเสิร์ต พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสนุก แต่ยังไม่พอกับการแก้ไขสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายสุดๆของเยอรมัน

ในฐานะที่เป็นพรรคสังคมนิยม จึงต้องพิจารณาเศรษฐกิจถึงฐานรากทางสังคม ฮิตเลอร์เข้าไป “แก้ไข” กลไกกฎระเบียบการจ้างงานให้เหมาะสม โดยให้ยื่นหมูแมวกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง “นายจ้างต้องจ้างคนงานเพิ่ม” ส่วน “ลูกจ้างต้องทำงานให้หนักขึ้นและห้ามเลือกงาน”แบบนี้ก็ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย (คนเยอรมันมีวินัยและพร้อมทำงานหนักอยู่แล้ว ยิ่งเจอภาวะห้ามเรื่องมากยิ่งต้องทำ)

ทำงานหนัก ก็แลกมาด้วยความสุข ฮิตเลอร์ แจกคูปองให้เที่ยวฟรีวันหยุด  แต่มีโควตา  คือ ต้องลงทะเบียนว่า สัปดาห์นี้ อยากไปไหน เช่น “ดูคอนเสิร์ต” “ไปสวนสัตว์ดูหมีแพนด้า” “ไปพิพิธภัณฑ์ดูของเก่า” หรือ “ไปนั่งชมสวน” ก็เลือกได้ สัปดาห์ละรายการ

ทำแบบนี้เศรษฐกิจก็หมุนดีเกิดร้านขายของรับนักท่องเที่ยว ร้านขายอาหาร  และศูนย์การค้าก็ขายดีขึ้น

ไม่เพียงแค่นั้น ท่านผู้นำมีวิสัยทัศน์ดีมาก คิดยกระดับโดยการเน้นการวิจัยและพัฒนา โดยท่านมองว่า เยอรมันมีนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ทำไมถึงตกต่ำ จึงระดมนักวิจัยจัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยใหญ่ รับโจทย์วิจัยจากรัฐที่ชี้โดยตรงว่า “ให้ทำวิจัยเรื่องอะไร”

ในเยอรมันสมัยนั้น (เกือบ 90 ปีมาแล้ว) มีบันไดเลื่อนใช้ในห้างกันแล้ว แต่มาตรการที่เข้มงวดในการแก้ปัญหาคนตกงานที่ยอดเยี่ยมที่สุด ก็คือ การไล่คนที่ไม่สมควรทำงานออกจากงาน

“ใครบ้างไม่สมควรทำงาน” หนึ่ง คือ ผู้หญิง ฮิตเลอร์มองว่า ผู้หญิงจะทำงานทำไม อยู่บ้านเลี้ยงลูก ดูแลครอบครัว แล้วรับเงินจากสามีดีกว่า ปล่อยโควตาทำงานให้แก่ครอบครัวที่ว่างงาน  (เหตุนี้ การว่างงานเลยลดลงเร็วมาก เพราะฮิตเลอร์ให้แก้นิยามคนว่างงาน ว่า ผู้หญิงไม่ตกงานเพราะต้องทำงานบ้าน)

สอง คือ “คนต่างชาติ โดยเฉพาะคนยิว” คือ ฮิตเลอร์มองว่า พวกนี้มาแย่งอาชีพคนเยอรมัน โดยเฉพาะตอนที่มีสงครามคนเยอรมันต้องไปรบ พวกนี้เลยได้งานแทน พอมีงานมีเงินก็มาปล่อยกู้ดอกแพงๆ ถือว่าเป็นอะไรที่ไม่ควรทำงานและน่ากำจัดทิ้ง สมัยฮิตเลอร์จึงใช้ทั้งขอความร่วมมือ ไปจนถึงออกเป็นกฎหมายไม่ให้ยิวทำงาน

 สำหรับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ฮิตเลอร์พบว่า เสียเปรียบรัสเซียเรื่องต้นทุน จึงศึกษาแนวทางลดต้นทุนของรัสเซีย และมีแนวคิด คือ

หากมีงานดีๆทำแต่ไม่สมัครใจทำงานก็ต้องโดนเกณฑ์ไปทำงานค่าแรงต่ำ ในค่ายกักกัน งานพวกนี้แรกๆ ก็เป็นพวกสินค้าขั้นต้นซึ่งช่วยลดต้นทุนอุตสาหกรรมประเทศได้ จึงช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่น้อย ………

ฮิตเลอร์เอาเงินงบประมาณจากไหนมาพัฒนาประเทศ? เนื่องจากตอนนั้นเศรษฐกิจเยอรมันวิกฤติมาก เงินคงคลังแทบไม่มี

ฮิตเลอร์ทำสวนทางกับการลดงบทหาร  โดยมองว่า อุตสาหกรรมทหารเป็นอุตสาหกรรมที่มูลค่าเพิ่มสูงจ้างงานมาก ไม่เท่านั้นยังเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แม้จะมีความเสี่ยงสูงมากก็ตาม ฮิตเลอร์จึงเน้นการลงทุนในงบทหารค่อนข้างมาก (แต่ จะให้ผลตอบแทนดีเฉพาะช่วงแรก)

“แล้วเอาเงินจากไหนมากระตุ้นเศรษฐกิจ?”

คำตอบคือ ฮิตเลอร์ ใช้วิธีการที่ทันสมัยมากในปัจจุบัน แต่ต้นคิดและการริเริ่มนั้น โบราณสุด ตั้งแต่สมัยหลุยส์ที่ 15

Hitler-03

 

คนคิด   ชื่อ จอห์น ลอว์ (แต่คนฝรั่งเศส อ่าน ลาส) เป็นนักพนันชาวสก๊อต มาเสี่ยงโชคที่ฝรั่งเศส เสนอทฤษฎีที่ค้านกระแสในขณะนั้น (รวมถึงปัจจุบันด้วย) ว่า “ไม่ต้องพิมพ์เงินเท่ากับทองที่มีเก็บในคลัง” เพราะกลัวเงินเฟ้อ   เพราะ “ค่าของเงินขึ้นอยู่กับที่เราเชื่อว่ามันมี” จึงมีการพิมพ์แบงก์ออกมากลายเป็น “คิวอี” ครั้งแรกๆ ของโลก แต่ตอนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีเศรษฐีระแคะระคาย ว่ากำลังมีฟองสบู่  เลยเทขายทั้งเงินและหุ้น ผลเลยล้มทั้งระบบ

แต่ รมว. ชาคท์ ใช้วิธีเดียวกันประสบความสำเร็จ

ตอนนั้น เพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั่วโลกตกลงเศรษฐกิจร่วมกันให้ยกเลิกสิ่งที่เรียกว่า Gold Standard หรือมาตรฐานทองคำ ที่กำหนดว่า “ พิมพ์แบงก์ได้เท่ากับที่มีทองคำในคลัง” เป็นว่า “อยากพิมพ์เท่าไร ก็ได้” ชาคท์ เลยพิมพ์แบงก์เพื่อเอาเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

ชาคท์ เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติเก่า ซึ่งนายแบงก์ต่างก็เชื่อมือ ยิ่งเจอวิกฤติร่วมกันก็สามัคคีกัน   พอท่านผู้นำ ฮิตเลอร์ เรียกประชุม นายแบงก์ แล้วระบุในเงื่อนไขก่อนประชุม 3 ข้อว่า

“ข้อ 1 ทุกอย่างที่พูดวันนี้เป็นความลับ”

“ข้อ 2 ใครแพร่งพรายตาย !!”

“ข้อ 3 ใครมีปัญหาให้ดูข้อ 1 และข้อ 2 ใหม่”

ทุกคนก็ขยาด ไม่กล้าแพร่งพราย ร่วมกับ หากเปิดเผยไปก็ไม่มีประโยชน์ ธุรกิจตัวเองก็แย่ด้วย ทุกคนก็เลยเงียบ

ผลคือ เศรษฐกิจโตขึ้น (GDP growth) การว่างงานลดลงแบบมโหฬาร (จากร้อยละ 30 เหลือไม่ถึง 1) คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีสถานที่เที่ยว มีรถขับ มีบ้านอยู่ และมีงานทำ….

นี่คือ เคล็ดลับปาฏิหาริย์แก้เศรษฐกิจ ของ ฮิตเลอร์

คำถาม  คือ ฮิตเลอร์ มีวิธีคิด นิสัยที่ขัดแย้งกับกลุ่มทหาร ที่ถืออำนาจเดิม แล้วสามารถขึ้นมามีอำนาจ แบบสุดโต่งได้อย่างไร ?

นอกจากนั้น ในท้ายที่สุด ทำไมฮิตเลอร์ถึงได้พาเยอรมันไปเกิดหายนะ  อะไรคือจุดผิดพลาด? 

 

ติดตามอ่านได้ในตอน 3 และ 4 ต่อไปครับ…